บทความ

ทำไมคริปโตถึงมีหลายสกุล?

image

เชื่อว่าหนึ่งในข้อสงสัยที่เกิดขึ้นกับนักลงทุนมือใหม่หลังจากเข้ามาในตลาดคริปโตครั้งแรกเลยก็คือ “ทำไมมันมีให้เลือกเยอะจัง?”

มือใหม่บางคนอาจรู้จักแค่ Bitcoin (BTC) หรือ Ethereum (ETH) เพราะเป็นเหรียญที่มีชื่อเสียงที่สุด แต่พอเข้าแอปเทรดมาจริง ๆ กลับต้องตกใจเพราะว่ามีให้เลือกเต็มไปหมด อย่างที่ Bitkub Exchange ก็มีให้เลือกมากกว่า 77 เหรียญเข้าไปแล้ว

ครั้นจะไปไล่ศึกษาให้หมดทุกเหรียญก็เชื่อว่าหลายคนน่าจะไม่ค่อยมีเวลากัน เพราะฉะนั้นบทความนี้จะช่วยสรุปให้ว่าสาเหตุที่คริปโตมีให้เลือกมากมายหลายสกุลมันมีที่ไปที่มาอย่างไรบ้าง

ทุกอย่างเริ่มจาก Bitcoin

หลายคนน่าจะรู้จัก Bitcoin กันดี ซึ่งบิตคอยน์เป็นสกุลเงินดิจิทัลกระจายอำนาจ (Decentralized Digital Currency) สกุลแรกของโลก ซึ่งสิ่งที่ทำให้ Bitcoin มีความกระจายอำนาจได้ก็เพราะมันทำงานอยู่บนเทคโนโลยีบล็อกเชนนั่นเอง

บล็อกเชน (Blockchain) จัดเป็นเทคโนโลยีฐานข้อมูล (Database) ประเภทหนึ่ง แต่แทนที่จะเก็บข้อมูลไว้ที่ตัวกลางเพียงตัวเดียว ระบบบล็อกเชนจะกระจายสำเนาของข้อมูลไปยังเครื่องคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในเครือข่ายเรียกว่าโหนด (Node) แต่ละโหนดจะมีการตรวจสอบให้ข้อมูลตรงกันเสมอ การจะแก้ไขข้อมูลบนบล็อกเชนจึงแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย หากไม่ได้รับความเห็นชอบจากโหนดในเครือข่ายมากกว่าครึ่ง

ในช่วงต้นปี 2009 มีนักพัฒนาที่ใช้นามแฝงว่า Satoshi Nakamoto ออกมาประกาศว่าเขาได้นำบล็อกเชนมาใช้กับเงินระบบเงินดิจิทัล ซึ่งสกุลเงินที่ใช้ในระบบนี้ก็คือ Bitcoin นั่นเอง

Bitcoin ถูกสร้างขึ้นมาให้มีคุณสมบัติของเงิน (Money) ที่ดี อย่างแรกคือการมีจำนวนจำกัดที่ 21 ล้านเหรียญ ไม่มีใครสามารถสร้างเพิ่มได้ สองคือสามารถแบ่งหน่วยทศนิยมได้สูงถึง 7 หลัก ทำให้การแลกเปลี่ยนบิตคอยน์ไม่จำเป็นต้องใช้ 1 เหรียญเต็ม ๆ เสมอ แต่สามารถแลกเปลี่ยนได้ต่ำสุดถึง 0.00000001 และที่สำคัญคือการเป็นระบบกระจายอำนาจ ไม่มีตัวกลางหรือผู้ใดผู้หนึ่งสามารถควบคุมได้

หากศึกษาประวัติศาสตร์มาก็จะพบว่าบ่อยครั้งที่ระบบการเงินถูกแทรกแซงโดยตัวกลาง เช่นการพิมพ์เงินเพิ่มของธนาคารกลางเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งผลที่ตามมาคือเงินเฟ้อ เงินมีมูลค่าน้อยลง และยังไม่นับปัญหาคอร์รัปชันต่าง ๆ ที่สร้างปัญหาให้กับระบบการเงินทั่วโลกอีก นั่นจึงทำให้ Satoshi Nakamoto สร้าง Bitcoin ขึ้นมาให้มีความกระจายอำนาจและเป็นอิสระจากตัวกลางนั่นเอง

เกร็ดน่ารู้: ปัจจุบันก็ยังไม่มีใครทราบว่าตัวจริงของ Satoshi Nakamoto คือใคร (ข้อมูล ณ วันที่ 23 พฤศจิกายน 2022) โดย Satoshi ได้ทิ้งข้อความสุดท้ายที่บอกว่าเขาย้ายไปทำโปรเจกต์อื่นแล้ว เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2011 และมีความเป็นไปได้สูงที่ Satoshi อาจไม่ใช่คนแค่คนเดียว อาจเป็นกลุ่มคนหรือองค์กร เพราะเค้ามีความเชี่ยวชาญหลากหลายสาขา ทั้งด้านเศรษฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ เทคโนโลยี การเข้ารหัส ฯลฯ และถึงแม้จะมีบางคนออกตัวอ้างว่าเขาคือ Satoshi แต่ก็ยังไม่มีใครสามารถพิสูจน์ได้เลย

เริ่มมีเหรียญพยายามต่อยอดจาก Bitcoin

หลังจาก Bitcoin เริ่มมีชื่อเสียง แต่ยังอยู่แค่บางกลุ่มคนเท่านั้น ต่อมาก็จึงเริ่มมีคนนำเทคโนโลยีบล็อกเชนของบิตคอยน์มาปรับปรุงให้ดีขึ้นตามแนวคิดของตนเอง เช่น เหรียญ Litecoin (LTC) ที่พัฒนาให้มีความเร็วในการโอนที่มากกว่า หรือเหรียญ Dogecoin (DOGE) ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อล้อเลียนบิตคอยน์ แต่ดันได้รับความนิยมเนื่องจากภาพลักษณ์ที่ดูเป็นมิตรของมัน เป็นต้น

นอกจากนี้ ก็ยังมีเหรียญที่ Fork ออกมาจาก Bitcoin ด้วย ซึ่งการ Fork ในวงการบล็อกเชนก็คือการแยกตัวออกมาจากเครือข่ายต้นฉบับ เป็นการ Copy & Paste โค้ดและประวัติการทำธุรกรรมต่าง ๆ ของต้นฉบับมาเกือบทั้งหมดเลย จากนั้นก็นำมาเปลี่ยนชื่อหรือปรับปรุงบางส่วน ทำให้เครือข่ายที่เกิดใหม่ทำงานเป็นเอกเทศจากเครือข่ายต้นฉบับ

ซึ่งเหรียญที่ Fork ออกมาจาก Bitcoin และได้รับความนิยมได้แก่ Bitcoin Cash (BCH) และ Bitcoin SV (BSV) เป็นต้น และก็มีเหรียญที่ Fork ออกมาแต่ไม่ได้รับความนิยมก็ค่อย ๆ สูญหายไปตามกาลเวลา

มาถึงตรงนี้ เราเพิ่งมาถึงแค่ยุคแรกหรือเจเนอเรชั่นที่ 1 ของบล็อกเชนที่เกิดขึ้นในช่วง 4–5 ปีแรกหลังจาก Bitcoin ถือกำเนิดขึ้นเท่านั้น หากเทียบกับเหรียญกว่า 77 เหรียญที่ Bitkub Exchange แล้วยังไม่ถึง 10 เหรียญเลยด้วยซ้ำ แต่เจเนอเรชั่นต่อไปที่จะพูดถึงนี้ เป็นเจเนอเรชั่นที่ทำให้จำนวนเหรียญในตลาดคริปโตเคอร์เรนซีมีมากขึ้นอย่างก้าวกระโดดเลยทีเดียว

กำเนิด Ethereum และการพัฒนาแอปฯ บนบล็อกเชน

ต่อมาในปี 2015 มีหนุ่มชาวแคนาดาชื่อว่า Vitalik Buterin เกิดแนวคิดว่าบล็อกเชนสามารถทำได้มากกว่าแค่การรับ-ส่งเงินเท่านั้น เขาจึงพัฒนาเครือข่ายบล็อกเชนที่ชื่อว่า Ethereum (ETH)

ระบบบล็อกเชนของ Ethereum มีสิ่งที่แตกต่างจากบล็อกเชนในตอนนั้น นั่นคือการนำ Smart contract หรือสัญญาอัจฉริยะมาใช้ ซึ่ง Smart contract ก็คือสัญญาที่สามารถดำเนินการได้ด้วยตัวเองเมื่อเงื่อนไขครบตามที่มันถูกเขียนขึ้นมา ว่าง่าย ๆ ก็คือการเขียนโปรแกรมบนบล็อกเชนนั่นเอง ทำให้การใช้งานบล็อกเชน Ethereum มีเยอะกว่ามาก หาก Bitcoin คือบล็อกเชนเจเนอเรชั่นที่ 1 Ethereum ก็คือเจเนอเรชั่นที่ 2

นอกจาก Smart contract แล้ว Ethereum ก็มีเหรียญ Ether ที่ใช้จ่ายเป็นค่าธรรมเนียมในการใช้งานฟังก์ชันต่าง ๆ ของเครือข่ายไม่ว่าจะเป็นการรัน Smart contract หรือการทำธุรกรรมทั่วไปบนเครือข่าย

หลังจากที่ Ethereum เริ่มทำงานก็มีนักพัฒนาเข้ามาเขียน Smart contract ขึ้นบนเครือข่าย เกิดเป็นแอปพลิเคชันที่เรียกว่า dApp (Decentralized application) รวมถึง DeFi (Decentralized finance) มากมาย เช่น Uniswap (UNI), Curve (CRV), Aave (AAVE) ฯลฯ รวมถึงบรรดา Stablecoin อย่าง USDT หรือ USDC ก็ถูกสร้างขึ้นบน Ethereum ด้วยเช่นกัน

ไม่เพียงเท่านั้น เนื่องจาก Ethereum รองรับการสร้างโทเคนด้วย บรรดาแอปฯ ที่อยู่บนเครือข่ายจึงสร้างโทเคนของตัวเองเพื่อใช้ร่วมกับแอปฯ ยกตัวอย่าง Uniswap ที่มีโทเคน UNI ซึ่งผู้ถือโทเคนนี้สามารถเข้าถึงฟีเจอร์เพิ่มเติมของแอปฯ ได้ เช่น ใช้โทเคนแทนสิทธิ์โหวตช่วยกำหนดทิศทางการพัฒนาของ Uniswap เป็นต้น

จะเห็นได้ว่าหลังจากการมาของ Ethereum สิ่งที่ตามมาคือโทเคนหลากหลายสกุล เพราะ Smart contract นั่นเอง หากมาถึงตรงนี้ก็พอครอบคลุมเหรียญบน Bitkub Exchange ไปได้ประมาณ 50–60 เหรียญ จากทั้งหมด 77 กว่าเหรียญแล้ว ยังมีเหรียญอีกส่วนหนึ่งที่จะกล่าวถึงเป็นลำดับต่อไปนี้

กำเนิดเจเนอเรชั่นที่ 3

เช่นเดียวกับ Bitcoin ทางฝั่ง Ethereum ก็มีเครือข่ายที่พยายามต่อยอดเกิดขึ้นเหมือนกัน ยกตัวอย่าง Cardano ที่เป็นเครือข่ายที่สร้างขึ้นโดย Charles Hoskinson อดีตผู้ร่วมก่อตั้ง Ethereum ที่แยกตัวออกมาสร้างเครือข่ายของตัวเองเนื่องจากเป้าหมายที่ไม่ลงตัวกัน

โดย Cardano (ADA) แตกต่างกับ Ethereum ตรงที่ Cardano ใช้ระบบฉันทามติ (Consensus Algorithm) แบบ Proof-of-Stake รวมถึงภาษาโปรแกรมที่ใช้ในการเขียน Smart Contract ที่ต่างกัน ซึ่ง Cardano มีเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาการขยายขนาดเครือข่ายที่ Ethereum ยังทำได้ไม่ค่อยดีนัก ทำให้เกิดปัญหาคอขวด ธุรกรรมล่าช้าและค่าธรรมเนียมแพง เครือข่ายอย่าง Cardano ที่พยายามเข้ามาแก้ปัญหานี้จึงถูกเรียกว่าบล็อกเชนเจเนอเรชั่นที่ 3

นอกจาก Cardano แล้ว ยังมีเครือข่ายอื่น ๆ อีกที่รองรับ Smart contract บ้างก็เป็นบล็อกเชนส่วนตัวที่ใช้แค่ในบางองค์กร บ้างก็เป็นบล็อกเชนสาธารณะ เช่น Fantom (FTM), Avalanche (AVAX), TRON (TRX) และแน่นอนว่าเครือข่ายเหล่านี้ก็มีแอปพลิเคชันและโทเคนที่สร้างขึ้นบนเครือข่ายโดยเฉพาะเหมือนกัน

มาถึงตรงนี้ผู้อ่านน่าจะเข้าใจภาพรวมของเหรียญต่าง ๆ ที่มีอยู่ในตลาดเกือบทั้งหมดแล้ว แต่ยังมีเหรียญอีกส่วนหนึ่งที่สามารถอธิบายแบบเร็ว ๆ ได้ดังนี้

เหรียญที่มาสนับสนุนเครือข่ายหลัก

เนื่องจาก Ethereum มีปัญหาด้านการขยายขนาด (Scalability) จึงเกิดแนวคิดสร้างเครือข่ายบล็อกเชนย่อยหรือ Layer 2 เพื่อมาสนับสนุน โดยมีหลักการทำงานคือเครือข่ายบล็อกเชนที่เป็น Layer 2 จะสามารถรองรับธุรกรรมแยกออกจากตัวเครือข่ายหลักได้ และเครือข่ายเหล่านี้มักจะรองรับ Smart contract ทำให้สามารถใช้งานแอปพลิเคชันได้เช่นกัน เมื่อถึงระยะเวลาที่กำหนด Layer 2 จะสรุปธุรกรรมที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น ๆ และส่งไปบันทึกไว้ที่เครือข่ายหลัก วิธีนี้จึงทำให้การทำธุรกรรมผ่าน Layer 2 มีทั้งความเร็วที่สูงกว่าและค่าธรรมเนียมที่ถูกกว่า แต่ก็ยังสามารถคงความปลอดภัยและความโปร่งใสของเครือข่ายหลักได้

ตัวอย่างเครือข่ายที่เป็น Layer 2 ได้แก่ Polygon (MATIC), Immutable X (IMX), Loopring (LRC) เป็นต้น

เหรียญที่สนับสนุนการเชื่อมต่อกันของบล็อกเชน

หลังจากมีเครือข่ายบล็อกเชนใหม่ ๆ เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก แต่ละเครือข่ายต่างก็มีจุดเด่นและจุดอ่อนต่างกันออกไป ก็เลยเกิดแนวคิดที่จะผลักดันให้เครือข่ายเหล่านี้สามารถทำงานร่วมกันได้ ก็เลยเกิดเป็นโปรเจกต์ที่จะมาเชื่อมต่อบล็อกเชนเข้าด้วยกัน เช่น Wanchain (WAN), Polkadot (DOT) เป็นต้น

แต่ละโปรเจกต์ก็มีแนวคิดที่จะมาเชื่อมต่อบล็อกเชนที่ค่อนข้างแตกต่าง ยกตัวอย่าง Polkadot ที่สร้างตัวเองเป็น Layer 0 หรือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ให้เครือข่ายอื่น ๆ สามารถมาอยู่บนโครงสร้างนี้ เพื่อทำให้การทำงานร่วมกับเครือข่ายที่อยู่บนโครงสร้างเดียวกันสามารถเกิดขึ้นได้อย่างราบรื่น ขณะที่ Wanchain จะเน้นในด้านการโอนสินทรัพย์ระหว่างเครือข่าย เป็นต้น

สรุป

จะเห็นได้ว่าสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัลขึ้นมาหลายสกุลอย่างแรกคือความพยายามที่จะพัฒนาต่อยอดจากเหรียญที่มาก่อนหน้า อย่าง Litecoin ที่พยายามต่อยอดจาก Bitcoin หรือ Cardano ที่พยายามแก้ไขจุดอ่อนของ Ethereum สาเหตุต่อมาก็คือ การที่บล็อกเชนมีการใช้งานที่กว้างมากขึ้นจากการนำ Smart contract มาใช้เพื่อสร้างแอปพลิเคชันต่าง ๆ ที่มีโทเคนเป็นของตัวเอง

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกเหรียญที่พัฒนาต่อยอดแล้วจะประสบความสำเร็จเสมอไป ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น ชื่อเสียง การยอมรับของผู้คน การยอมรับของหน่วยงานที่มีอำนาจ ฯลฯ ดังนั้น การเลือกลงทุนในเหรียญใดเหรียญหนึ่ง นอกจากการศึกษาพื้นฐานของเหรียญ การวิเคราะห์กระแสตอบรับที่มีต่อเหรียญนั้นก็เป็นอีกปัจจัยที่สำคัญไม่แพ้กัน

ศึกษาข้อมูลแต่ละเหรียญที่ Bitkub Exchange ได้ที่บทความรวมเหรียญ

— — — — —

ติดตามบทความ ข่าวสาร และความรู้ที่น่าสนใจเรื่อง บิทคอยน์ (Bitcoin), Cryptocurrency และความรู้อีกมากมายในวงการคริปโต ได้ที่ Bitkub Blog

คำเตือน:

* คริปโทเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัลมีความเสี่ยงสูง คุณอาจสูญเสียเงินลงทุนได้ทั้งจํานวน โปรดศึกษาและลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้

** สินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยง โปรดศึกษาและลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้

*** ผลตอบแทนของสินทรัพย์ดิจิทัลในอดีตหรือผลการดําเนินงานในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลตอบแทน ของสินทรัพย์ดิจิทัลหรือผลการดําเนินงานในอนาคต

ที่มา:

Medium

ผู้เขียน: Waranyu Suknantee | 29 พ.ย. 65 | อ่าน: 2,376
บทความล่าสุด