บทความ
10 นวัตกรรมที่เกิดจาก Ethereum
เมื่อพูดถึง Ethereum หลายคนน่าจะนึกถึงสกุลเงินดิจิทัลที่มีมูลค่ารวมสูงสุดเป็นอันดับที่ 2 ของโลก และเป็นบล็อกเชนเครือข่ายแรกที่รองรับ Smart Contract หรือสัญญาอัจฉริยะ จึงได้รับการยอมรับว่าเป็นเครือข่ายที่บุกเบิกบล็อกเชนเจนเนอเรชันที่ 2
เนื่องจากวันที่ 30 กรกฎาคม 2015 เป็นวันที่เครือข่าย Ethereum เริ่มต้นทำงานอย่างเป็นทางกา จึงเปรียบเหมือนวันเกิดของ Ethereum และในบทความนี้ เราจะมาดูกันว่า Ethereum ได้นำนวัตกรรมอะไรมาสู่โลกคริปโทเคอร์เรนซีกันบ้าง
1.Smart Contract
Smart Contract เปรียบเสมือนโปรแกรมที่ทำงานอยู่บนบล็อกเชน โดยเป็นโปรแกรมที่สามารถดำเนินการได้ด้วยตัวเองเมื่อเงื่อนไขครบตามที่มันถูกเขียนขึ้นมา Smart Contract จึงถูกใช้เพื่อเปลี่ยนกระบวนการต่าง ๆ ให้เป็นระบบอัตโนมัติ สามารถช่วยลดระยะเวลา ลดทรัพยากร และเพิ่มความปลอดภัยให้กับบล็อกเชน เพราะเราสามารถตรวจสอบ Smart Contract ที่อยู่บล็อกเชนได้อย่างโปร่งใส
ยกตัวอย่าง ในกรณีไม่มี Smart Contract ถ้าเราอยากซื้อสินค้าออนไลน์ เมื่อเราเลือกสินค้าได้แล้ว เราก็ต้องทักไปหาพ่อค้าและตกลงราคากัน ขอที่อยู่กระเป๋า จากนั้นค่อยโอนเงินไปยังกระเป๋าของพ่อค้า พ่อค้าก็จะตรวจสอบอีกทีว่าเงินเข้ากระเป๋าแล้วจริงหรือไม่ และจึงค่อยส่งของ ซึ่งฟังดูแล้วค่อนข้างวุ่นวายเลยทีเดียว
แต่ถ้านำ Smart Contract มาใช้ พ่อค้าหรือแพลตฟอร์มก็เพียงแค่เขียน Smart Contract ขึ้นมาโดยใส่เงื่อนไขว่า ถ้าผู้ซื้อเลือกสินค้าและโอนเงินมาครบแล้ว ระบบก็จะแจ้งให้พ่อค้าทำการส่งสินค้าโดยอัตโมนัติทันที
จะเห็นได้ว่าการนำ Smart Contract เข้ามาใช้สามารถช่วยตัดขั้นตอนที่ยุ่งยากออกไปได้ เพราะ Smart Contract จะดำเนินการทันทีเมื่อครบเงื่อนไข โดยเงื่อนไขในตัวอย่างที่ยกมาก็คือเมื่อลูกค้าเลือกสินค้า+จ่ายเงินครบ นอกจากนี้ Smart Contract ยังถูกนำไปใช้จนเกิดเป็นนวัตกรรมใหม่ ๆ อีกมากมายในข้อต่อไปนี้อีกด้วย
2.dApp
การมีอยู่ของ Smart Contract ทำให้นักพัฒนาสามารถพัฒนาแอปพลิเคชันต่าง ๆ ขึ้นบนบล็อกเชนได้ โดยเฉพาะบน Ethereum ที่มีจำนวน dApp บนเครือข่ายมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ซึ่งแอปพลิเคชันที่สร้างบนบล็อกเชนเราเรียกว่า dApp หรือ Decentralized Application
ความแตกต่างระหว่าง dApp กับ App ทั่วไปคือ ในการใช้งานแอปฯ ทั่วไป ข้อมูลและคำสั่งของผู้ใช้จะถูกส่งเข้าไปยังตัวกลางอย่างบริษัทผู้สร้างแอปฯ จากนั้นตัวกลางก็จะประมวลผลและดำเนินคำสั่งต่อไปให้ ทำให้ตัวกลางได้ข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ไปด้วย แต่ถ้าเป็น dApp คำสั่งของผู้ใช้จะถูกดำเนินการโดย Smart Contract จึงสามารถตัดตัวกลางออกไปจากการใช้งานแอปพลิเคชันได้ และ Smart Contract ก็ยังสามารถตรวจสอบเงื่อนไขผ่านบล็อกเชนได้ ทำให้มีความโปร่งใสสูง
ทั้งนี้ dApp เป็นคำที่ใช้เรียกแอปพลิเคชันบนบล็อกเชนแบบรวม ๆ แต่ก็จะมีการแยกหมวดหมู่ของ dApp ออกไปอีก เช่น DeFi, DEX, GameFi ฯลฯ เหมือนที่แอปพลิเคชันบน App Store มีการแบ่งหมวดหมู่ออกเป็นหมวดการเงิน หมวดบันเทิง หมวดไลฟ์สไตล์ ฯลฯ นั่นเอง
3.DeFi
Decentralized Finance (DeFi) หรือระบบการเงินแบบกระจายอำนาจ ก็เกิดขึ้นโดยมี Smart Contract เป็นพื้นฐานเช่นกัน ซึ่ง DeFi เป็นหนึ่งในหมวดหมู่ย่อยของ dApp ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในระยะหนึ่ง
ยกตัวอย่าง Aave ที่เป็นแพลตฟอร์มสำหรับการกู้เป็นสกุลเงินดิจิทัล โดยมีหลักการทำงานคือ ผู้ใช้ที่มีทุนสามารถนำทุนมาปล่อยกู้ให้กับคนที่ต้องการได้ ส่วนผู้กู้ต้องมีสินทรัพย์ดิจิทัลจำนวนหนึ่งเพื่อนำมาค้ำประกันจึงจะสามารถกู้เงินไปได้ เมื่อผู้กู้นำเงินกู้มาจ่ายคืนพร้อมดอกเบี้ย ดอกเบี้ยนั้นก็จะถูกแบ่งเป็นผลตอบแทนให้กับผู้ปล่อยกู้ กระบวนการทั้งหมดนี้เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติและไร้ตัวกลาง เพราะ Aave ใช้ Smart Contract นั่นเอง
4.DAO
Decentralized Autonomous Organization (DAO) เป็นระบบการบริหารแพลตฟอร์มหรือเครือข่ายรูปแบบหนึ่ง โดยเป็นระบบที่ผู้ใช้ทุกคนมีสิทธิ์ออกเสียงสำหรับการบริหารหรือพัฒนาแพลตฟอร์ม เช่น Uniswap ที่เป็น Decentralzied Exchange (DEX) อันดับต้น ๆ ของโลกที่ใช้ Smart Contract ในการจับคู่แลกเปลี่ยนเงินดิจิทัล แต่ที่จะมายกตัวอย่างในข้อนี้ก็คือระบบ DAO ของ Uniswap
โดยเมื่อผู้ใช้ฝากเงินไว้กับแพลตฟอร์มเพื่อช่วยเสริมสภาพคล่อง ผู้ใช้อาจได้รับรางวัลตอบแทนเป็นโทเคน UNI ซึ่งโทเคนนี้สามารถใช้ร่วมกับระบบ DAO ของ Uniswap โดยผู้ใช้สามารถจ่าย UNI จำนวนหนึ่งเพื่อสร้างข้อเสนอ (Proposal) สำหรับการพัฒนาเครือข่าย
ข้อเสนอดังกล่าวสามารถเป็นไปได้ตั้งแต่การเสนอให้เพิ่ม-ลดค่าธรรมเนียมการใช้งาน เพิ่มคู่เหรียญ เพิ่มฟีเจอร์ใหม่ ปรับปรุงโค้ด ฯลฯ ขณะที่ผู้ใช้คนอื่นก็สามารถใช้โทเคน UNI แทนเสียงโหวตว่าอนุมัติข้อเสนอดังกล่าวหรือไม่ วิธีนี้ทำให้ทุกเสียงโหวตเป็นเสียงที่มาจากผู้ใช้ที่มองเห็นปัญหาจริง ๆ จึงทำให้สามารถพัฒนาแพลตฟอร์มให้ตอบโจทย์ผู้ใช้ได้มากยิ่งขึ้น
5.GameFi
GameFi เป็นการผสมกันระหว่าง Game และ Decentralized Finance ทำให้เกิดเป็นการเล่นเกมรูปแบบใหม่ที่ผู้เล่นสามารถสร้างรายได้จากการเล่มเกม โดย Smart Contract เข้ามามีบทบาทช่วยกำหนดกฏต่าง ๆ ในเกมและเกณฑ์การมอบรางวัลให้กับผู้เล่น
ยกตัวอย่าง เกม Axie Infinity ที่เป็นเกมแนวต่อสู้ที่ให้ผู้เล่นจัดทีม Axie 3 ตัว เพื่อนำไปตะลุยด่านหรือประลองฝีมือกับผู้เล่นคนอื่น ซึ่ง Smart Contract จะเข้ามาบทบาทเกี่ยวกับการกำหนดรางวัลที่ผู้เล่นจะได้รับเมื่อผ่านด่าน ยิ่งผู้เล่นผ่านด่านหรือชนะคู่ต่อสู้ในระดับสูงเท่าไหร่ รางวัลที่ได้ก็จะมากขึ้นเท่านั้น เป็นต้น
นอกจากนี้ เจ้า Axie แต่ละตัวถือเป็นสินทรัพย์ประเภท NFT เพราะแต่ละตัวมีหน้าตาและความสามารถไม่ซ้ำกัน ซึ่งก็ได้ Smart Contract เป็นสิ่งที่คอยกำหนดว่าแต่ละความสามารถของ Axie จะมีผลต่อเกมการเล่นอย่างไรบ้างอีกด้วย
6.Data Oracle
บล็อกเชนถือเป็นเทคโนโลยีที่มีความโปร่งใสและปลอดภัยสูงมาก แต่ถ้าเราต้องการเชื่อมต่อข้อมูลจากโลกภายนอกเข้าสู่บล็อกเชนเพื่อการใช้งานที่แม่นยำยิ่งขึ้น อย่างการแลกเปลี่ยนผ่าน DEX เราจะรู้ราคาปัจจุบันของแต่ละสินทรัพย์ได้อย่างไร คำตอบคือการใช้ Data Oracle
Data Oracle คือระบบที่คอยดึงข้อมูลจากโลกภายนอกเข้าสู่บล็อกเชนผ่านการเชื่อมต่อ API เพื่อให้ Smart Contract นำข้อมูลเหล่านี้มาดำเนินการต่อได้ โดยข้อมูลสามารถเป็นอะไรก็ได้ ตั้งแต่ ราคาสินทรัพย์ ผลการแข่งขันฟุตบอล สภาพอากาศ ภูมิประเทศ และอีกมากมาย ยกตัวอย่าง ใช้ Data Oracle เพื่อดึงข้อมูลราคาสินทรัพย์ดิจิทัลเข้ามาใน DEX เพื่อทราบราคาปัจจุบันของแต่ละเหรียญ ผู้ใช้ก็จะสามารถแลกเปลี่ยนในราคาที่เป็นธรรมได้ เป็นต้น ส่วน Data Oracle ที่ได้รับความนิยม ได้แก่ Chainlink (LINK) และ Band Protocol (BAND)
7.Stablecoin
Stablecoin คือสกุลเงินดิจิทัลที่มีมูลค่าคงที่ ซึ่งมีหลักการทำงานคือ ผู้ออกเหรียญต้องถือเงินดอลลาร์ให้เท่ากับจำนวนเหรียญ Stablecoin สกุลนั้น ๆ เช่น ถ้ามี USDT ในตลาด 1 พันล้านเหรียญ ทาง Tether ที่เป็นผู้ออกเหรียญก็ต้องเก็บเงินดอลลาร์สำรองไว้อย่างน้อย 1 พันล้านเหรียญ เผื่อในกรณีที่ผู้ใช้ต้องการแลกกลับเป็นเงินดอลลาร์ก็จะสามารถแลกได้ในอัตรา 1:1 ทันที นั่นจึงทำให้ Stablecoin มีมูลค่าใกล้เคียงกับ 1 ดอลลาร์เสมอนั่นเอง สำหรับนักลงทุน นอกจากจะถือ Stablecoin เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาคริปโทฯ แล้ว Stablecoin ยังสามารถนำไปใช้งานร่วมกับ DeFi ได้อย่างกว้างขวางอีกขวางอีกด้วย ส่วน Stablecoin ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในตลาด ได้แก่ USDT และ USDC
8.Bridge
เมื่อบล็อกเชนไม่ได้มีแค่เครือข่ายเดียว แต่มีเป็นสิบเป็นร้อย แถมแต่ละเครือข่ายก็มีจุดเด่นแตกต่างกัน บางครั้งนักพัฒนาก็อยากให้แอปพลิเคชันสามารถทำงานร่วมกับเครือข่ายอื่นเพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับนักลงทุน หรือนักลงทุนอยากนำเหรียญที่ตัวเองชอบไปใช้กับอีกแอปฯ ที่อยู่คนละเครือข่าย จึงเกิดไอเดียสร้างสะพานที่เชื่อมต่อกับอีกเครือข่ายหนึ่ง หรือ Bridge นั่นเอง
Bridge คือระบบที่สามารถทำให้ผู้ใช้บล็อกเชนสามารถโอนเหรียญไปอีกเครือข่ายหนึ่งได้ โดยมีหลักการทำงานคือ เมื่อทำการโอนข้ามเครือข่าย แอปพลิเคชันจะล็อกเหรียญหรือโทเคนที่โอนไว้ จากนั้นจึงติดต่อกับเครือข่ายปลายทางเพื่อสร้างโทเคนที่เป็นตัวแทนเหรียญหรือโทเคนต้นทางในจำนวนที่เท่ากัน และส่งไปยังที่อยู่กระเป๋าปลายทาง เพื่อผู้ใช้นำโทเคนนั้นไปใช้งานต่อได้ หากผู้ใช้โอนโทเคนกลับไปเครือข่ายต้นทาง โทเคก็จะถูกทำลาย (เผา) ส่วนเหรียญหรือโทเคนต้นฉบับก็จะถูกปลดล็อกและส่งไปยังกระเป๋านั่นเอง
9.Layer 2
เมื่อ Ethereum เติบโตจนกลายเป็นบล็อกเชนที่มียอด Active สูงที่สุดในโลก ปัญหาที่ตามมาคือเครือข่ายไม่สามารถขยายขนาด (Scale) เพื่อรองรับผู้ใช้ทั้งหมดพร้อม ๆ กันได้ ส่งผลให้เกิดปัญหาอย่างความล่าช้าในการทำธุรกรรม และค่าธรรมเนียมที่พุ่งสูงปรี๊ด จึงเกิดแนวคิดสร้าง Layer 2 เพื่อมาช่วยแบ่งเบาภาระของ Layer 1 อย่าง Ethereum
Layer 2 ก็เป็นบล็อกเชนอีกเครือข่ายหนึ่ง โดยมีหลักการทำงานคือ Layer 2 จะคอยสรุปยอดธุรกรรมที่เกิดขึ้น และส่งไปบันทึกบน Layer 1 ตามระยะที่กำหนด วิธีนี้ทำให้การทำธุรกรรมบน Layer 2 มีความเร็วที่สูงและค่าธรรมเนียมที่ต่ำกว่า Layer 1 มาก บางครั้งอาจเร็วและถูกกว่าถึง 100 เท่า และยังสามารถลดภาระให้กับ Ethereum เพราะไม่จำเป็นต้องประมวลผลธุรกรรมยิบย่อย ซึ่ง Layer 2 ที่น่าสนใจ ได้แก่ Polygon (MATIC), Optimism (OP), Loopring (LRC) เป็นต้น
10.3rd Generation Blockchain
จากปัญหาที่เกิดขึ้นในข้อก่อนหน้า บล็อกเชนรุ่นที่สามจึงเกิดขึ้นมาเพื่อพยายามแก้ปัญหาด้าน Scalability หรือการขยายขนาดเพื่อให้สามารถรองรับผู้ใช้จำนวนมหาศาลได้ โดยเครือข่ายที่น่าสนใจ ได้แก่ Cardano (ADA), Polkadot (DOT), Solana (SOL), Avalanche (AVAX) และอีกมากมาย ซึ่งแต่ละเครือข่ายก็มีวิธีแก้ไขปัญหาแตกต่างกัน เช่น บางเครือข่ายหันมาใช้ Proof-of-Stake ที่ประหยัดพลังงานและใช้เวลายืนยันธุรกรรมน้อยกว่า Proof-of-Work ที่ Ethereum ใช้อยู่ในปัจจุบัน หรือบางเครือข่ายเลือกใช้โครงสร้างเครือข่ายแบบ DAG (Directed Acyclic Graph) เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ทาง Ethereum ก็ยังได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ซึ่งสิ่งที่นักลงทุนกำลังเฝ้ารอก็คือ The Merge ของ Ethereum Mainnet ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นภายในปี 2022 นี้ โดยจะเป็นการที่ Ethereum เปลี่ยนจากระบบ Proof-of-Work ไปเป็น Proof-of-Stake หรือที่เรียกกันว่า Ethereum 2.0 นั่นเอง
สรุป
จากตัวอย่างที่ยกมา ผู้เขียนเชื่อว่านี่เป็นเพียง “ส่วนหนึ่ง” ของนวัตกรรมที่ Ethereum นำมาให้กับโลกเท่านั้น เพราะยังมีฟีเจอร์หรือนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่กำลังถูกพัฒนาขึ้นบน Ethereum แถมยังมี Ethereum 2.0 ที่ทุกคนกำลังเฝ้ารอ จึงน่าติดตามเป็นอย่างยิ่งว่าในอนาคต Ethereum จะนำนวัตกรรมอะไรมาสู่วงการคริปโทเคอร์เรนซีอีก
ลงทุน Ethereum กับ Bitkub Exchange ได้แล้ววันนี้ สมัครเลย: https://www.bitkub.com/signup
*การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยงสูง ควรศึกษาและทำความเข้าใจก่อนลงทุน
ที่มา:
Medium