บทความ
รวมข่าวคริปโตรายสัปดาห์: FED ขึ้นดอกเบี้ยตามคาด แต่ตลาดเริ่มฟื้นตัว!?
เรารวบรวมข่าวเด่นในวงการคริปโทเคอร์เรนซีและบล็อกเชนตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา มาให้อ่านกันที่นี่แล้ว ไปดูกันเลย!
*เนื้อหาต่อไปนี้เป็นการนำข่าวสารย้อนหลังตลอดช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมาจากเว็บไซต์ต่างประเทศมาเรียบเรียงและสรุปให้เข้าใจง่าย ไม่ได้เป็นการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด
===================
ราคา Bitcoin ปรับสูงขึ้นหลัง FED ขึ้นดอกเบี้ยตามคาด
Federal Reserve ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมคืนวันพุธที่ผ่านมา ทำให้อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ อยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี พร้อมระบุว่าจะยังคงดำเนินนโยบายการเงินเชิงรุกเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อต่อไป
อย่างไรก็ตาม ตลาดคริปโตและตลาดหุ้นต่างตอบรับในเชิงบวกกับข่าวดังกล่าว เนื่องจากเกิดกระแสคาดการณ์ว่า FED อาจชะลอการขึ้นดอกเบี้ยในเร็ว ๆ นี้ ทำให้นักลงทุนบางส่วนเริ่มกลับสนใจสินทรัพย์เสี่ยงอีกครั้ง
โดยถ้อยแถลงของ FED กล่าวว่า “สำหรับการกำหนดจังหวะของการขึ้นดอกเบี้ยในอนาคต คณะกรรมการจะพิจารณาความเข้มงวดของนโยบายการเงินที่สะสมไว้ ความล่าช้าที่นโยบายการเงินจะเริ่มส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ และการพัฒนาเศรษฐกิจและการเงิน”
จากถ้อยแถลงดังกล่าว นักลงทุนบางส่วนจึงมองว่านี่เป็นสัญญาณชะลอการขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งทาง Bank of America ก็มีความเห็นไปในทางเดียวกัน โดยกล่าวในรายงานว่า “FED จะเปิดประตูสู่การชะลอการขึ้นดอกเบี้ยอย่างช้า ๆ เริ่มตั้งแต่เดือนธันวาคม”
ที่มา Decrypt
===================
Meta เตรียมนำระบบสร้างและเทรด NFT มาสู่ Instagram
Meta บริษัทแม่ของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย Instagram เปิดตัวเครื่องมือที่เกี่ยวข้องกับโทเคนประเภท NFT (Non-fungible token) จำนวนหนึ่ง ซึ่งจะช่วยให้เหล่าครีเอเตอร์สามารถสร้าง (Mint) แสดง และขาย NFT ได้ทั้งในและนอก Instagram
อย่างไรก็ตาม Meta ระบุว่าในช่วงแรกจะมีเฉพาะเหล่าครีเอเตอร์ในสหรัฐอเมริกากลุ่มเล็ก ๆ เท่านั้นที่จะมีสิทธิ์ทดสอบฟีเจอร์ใหม่นี้ และจะขยายไปยังประเทศอื่น ๆ ตามมา แต่ไม่ได้ให้ข้อมูลว่าจะมีการดำเนินการนี้เมื่อไหร่
นอกเหนือจากบล็อกเชน Ethereum, Flow และ Polygon ที่รองรับในปัจจุบัน Meta ยังมีแผนที่จะขยายบริการออกไปยัง Solana อีกด้วย
ที่มา Cointelegraph
===================
อินเดียเตรียมทดสอบ CBDC ในเดือนพฤศจิกายน
ธนาคารกลางของอินเดียประกาศเปิดตัวโครงการนำร่องสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง (CBDC) สำหรับภาคการค้าส่งในวันที่ 1 พฤศจิกายน ส่วนภาคค้าปลีกจะเริ่มภายในหนึ่งเดือน โดยระบุว่าการใช้งาน CBDC ในภาคค้าส่งคือ “การชำระธุรกรรมในตลาดรองในหลักทรัพย์ของรัฐบาล” เพราะจะช่วยลดต้นทุนการทำธุรกรรมลงได้
โดยธนาคาร 9 แห่งที่เข้าร่วมในโครงการนำร่อง ได้แก่ Bank of India, Bank of Baroda, Union Bank of India, HDFC Bank, ICICI Bank, Kotak Mahindra Bank, Yes Bank, IDFC First Bank และ HSBC
อย่างไรก็ตาม สำหรับโครงการนำร่องของภาคค้าปลีกที่มีแผนจะเปิดตัวภายในหนึ่งเดือน ทางธนาคารจะใช้วิธีเลือกกลุ่มผู้ซื้อและผู้ขายแบบปิด
ที่มา Coindesk
===================
JP Morgan ทำธุรกรรมด้วย DeFi ครั้งแรกบนบล็อกเชนสาธารณะ
JP Morgan ธนาคารยักษ์ใหญ่ในสหรัฐอเมริกา ประสบความสำเร็จในการทำธุรกรรมข้ามพรมแดนเป็นครั้งแรก โดยใช้ DeFi (Decentralzied Finance) บนบล็อกเชนสาธารณะ
ธุรกรรมดังกล่าวได้รับการสนับสนุนโดย Monetary Authority of Singapore (MAS) ของสิงคโปร์เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการนำร่องเพื่อพิจารณาว่าสถาบันการเงินแบบดั้งเดิมสามารถใช้สินทรัพย์ที่เป็นโทเคนและ DeFi เพื่อดำเนินการธุรกรรมทางการเงินได้อย่างไร รวมถึงกรณีการใช้งานอื่น ๆ
ธุรกรรมดังกล่าวเป็นการทำร่วมกับ DBS Bank ธนาคารที่ใหญ่ที่สุดของสิงคโปร์ SBI Digital Asset Holdings ธนาคารในและ Oliver Wyman Forum ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มความเป็นผู้นำทางธุรกิจ โดยดำเนินการบนเครือข่าย Polygon ที่เป็น Layer 2 ของ Ethereum และนำโค้ดสัญญาอัจฉริยะของ AAVE มาปรับใช้
ที่มา Cointelegraph
===================
ผลวิจัยอ้าง 97% ของโทเคนบน Uniswap ถูกสร้างมาเพื่อทำ Rug Pull
ผลวิจัยโดย Multidisciplinary Digital Publishing Institute อ้างว่า 97.7% ของโทเคนที่เปิดตัวบน Uniswap ซึ่งเป็นกระดานแลกเปลี่ยนแบบกระจายอำนาจ (Decentralized Exchange) ถูกสร้างมาเพื่อทำ Rug Pull
อย่างไรก็ตาม ผลวิจัยดังกล่าวถูกอัปโหลดตั้งแต่ในเดือนกุมภาพันธ์ 2022 (ได้รับการแก้ไขในเดือนมีนาคม 2022) แต่เพิ่งเป็นกระแสบนโซเชียลหลังจาก Nick Almond หัวหน้าทีมของโปรโตคอล FactoryDAO เพิ่งแชร์ลงทวิตเตอร์ในสัปดาห์นี้
ทั้งนี้ ในรายงานวิจัยอ้างว่าได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลธุรกรรมจากโทเคนมากกว่า 20,000 โทเคน ผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยมนุษย์ร่วมกับ Machine learning ซึ่งเครื่องจักรสามารถตรวจพบโอกาสที่จะเกิดการ Rug Pull ได้ด้วยความแม่นยำถึง 99% หมายความว่าโทเคนเกือบ 27,000 รายการที่ถูกวิเคราะห์ มีเพียง 631 รายการเท่านั้นที่พบว่า “ไม่เป็นอันตราย”
ที่มา Decrypt
===================
ราคา Band Protocol พุ่งขึ้นก่อนการอัปเกรด V2.4
ราคา Band Protocol ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งหลังจากนักพัฒนาประกาศการอัปเกรดสำคัญครั้งใหม่ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 21 พฤศจิกายน ปีนี้
BandChain ของ Band Protocol จะได้รับการอัปเกรดเป็น v2.4 โดบจะมีฟีเจอร์หลัก 3 อย่าง ได้แก่ อนดับแรกจะเพิ่ม MaxGas ต่อบล็อกเป็น 50M Gas อย่างที่สอง จะเพิ่มอัตรา Throughput สำหรับโมดูล Oracle ประมาณ 10 เท่าผ่านการเพิ่มประสิทธิภาพรันไทม์ของ Oracle WebAssembly (Owasm) และสุดท้ายคือการอัปเดต Cosmos SDK เป็น V0.45.10 และ IBC-Go เป็น v3.3.1
ทาง Band Protocol ได้เปิดให้ผู้ถือเหรียญ BAND ร่วมโหวตสำหรับการอัปเกรดนี้ โดย ณ เวลาที่เขียนมีผู้ลงคะแนนเป็นบวกมากกว่า 10 คนแล้ว ส่งผลให้ราคา BAND พุ่งสูงขึ้นเนื่องจากนักลงทุนตั้งความหวังกับการอัปเดตที่จะเกิดขึ้นไว้ค่อนข้างสูง
ที่มา CoinJournal
===================
ความต้องการ NFT ยังแข็งแกร่ง จากยอด Unique Traders ที่เพิ่มขึ้น 18%
รายงานจาก DappRadar เผยให้เห็นว่า แม้เดือนตุลาคมจะมีปริมาณการซื้อขายและการขาย NFT ที่ลดลง แต่ยอด Unique Traders (ผู้ค้าที่รายใหม่) รายเดือนเติบโตขึ้น 18% แสดงให้เห็นว่าตลาดนี้ยังมี “ความต้องการที่ดี”
ตามรายงานเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายนระบุว่า จำนวน Unique Traders ในเดือนตุลาคมสูงถึง 1.11 ล้านราย เพิ่มขึ้น 18% จากเดือนกันยายน ที่ประมาณ 950,000 ราย แม้ปริมาณซื้อขายจะลดลง 30% เป็น 662 ล้านดอลลาร์ในเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดของปี 2022 ขณะที่ยอดขายลดลง 30% เหลือ 6.13 ล้าน
โดย DappRadar ยังระบุเสริมอีกว่า “การเพิ่มขึ้นของจำนวน Unique Traders บ่งชี้ว่ามีผู้คนใหม่ ๆ เข้าสู่ตลาด NFT สะท้อนว่าตลาดนี้ยังคงเป็นที่ต้องการอย่างมาก”
ที่มา Cointelegraph
===================
ติดตามบทความ ข่าวสาร และความรู้ที่น่าสนใจในวงการคริปโตได้ที่ Bitkub Blog
เรียนรู้เรื่อง บิทคอยน์ (Bitcoin) และ Cryptocurrecy ที่น่าสนใจก่อนเริ่มลงทุน
สมัครบัญชี Bitkub เพื่อ trade Cryptocurrency ได้แล้ววันนี้ คลิกเลย www.bitkub.com/signup
*สินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยง โปรดศึกษาและลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้
**คริปโทเคอร์เรนซีมีความเสี่ยงสูง คุณอาจสูญเสียเงินลงทุนได้ทั้งจํานวน
***ผลตอบแทนของสินทรัพย์ดิจิทัลในอดีตหรือผลการดําเนินงานในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลตอบแทนของสินทรัพย์ดิจิทัลหรือผลการดําเนินงานในอนาคต
ที่มา:
Medium