ขุด Bitcoin ทำอย่างไร? มาดูกัน!
อีกหนึ่งคำถามคาใจผู้ที่เพิ่งเริ่มเข้ามาในวงการคริปโตเคอร์ซี นั่นคือ “การขุด” มันคืออะไร ทำอย่างไร และได้อะไร? วันนี้เราจะมาดูคำตอบไปด้วยกัน!
แต่ก่อนอื่น ขอเตือนว่าการขุด Bitcoin หรือสกุลเงินดิจิทัลตัวอื่นๆ เป็นกระบวนการที่ต้องใช้เงินลงทุนซื้ออุปกรณ์สำหรับขุดและค่าไฟฟ้าที่ใช้ในการขุด อีกทั้งไม่มีอะไรมารับรองว่าจะได้รับผลตอบแทนจากการขุด!
การขุดคืออะไร?
การขุด (Mining) คือการแก้สมการทางคณิตศาสตร์โดยใช้พลังประมวลผลของคอมพิวเตอร์ เพื่อที่จะได้รับสิทธิ์ในการยืนยันธุรกรรมและเพิ่มบล็อกใหม่ลงไปในเครือข่ายบล็อกเชน ผู้ที่สามารถแก้ไขสมการได้ก่อนใครก็จะได้รับรางวัลตอบแทนเป็นเหรียญที่ยังไม่ถูกปล่อยออกมาบนระบบ จึงเปรียบเทียบได้กับการขุดทองคำ เพราะไม่มีใครรู้ว่าผู้ใดจะได้รางวัลไปครอบครอง
อยากขุดต้องทำอย่างไร?
ณ ปัจจุบัน มีผู้ให้บริการเกี่ยวกับสัญญาขุด (Mining Contract) หรือ Cloud Mining ที่ผู้ใช้สามารถจ่ายเงินซื้อสัญญาและปล่อยให้ทางผู้ให้บริการทำการขุด โดยที่ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องลงทุนในเรื่องของอุปกรณ์ การบำรุงรักษา สถานที่ และอื่นๆอีกมากมาย
การบริการในลักษณะดังกล่าว แม้จะฟังดูสะดวกสบาย แต่ก็มีข้อเสียด้วยเช่น โดยเฉพาะเรื่องของ Scam หรือเว็บไซต์ปลอม รวมถึงรางวัลที่ได้จากการขุดที่อาจถูกหักค่าธรรมเนียมด้วยเช่นกัน ดังนั้นผู้ใช้ต้องทำการศึกษาและหาข้อมูลให้ดีเสียก่อน
สำหรับผู้ที่สนใจจะทำการขุดด้วยตัวเอง ก็สามารถทำได้ด้วยการเตรียมอุปกรณ์ โปรแกรม และลงมือขุดด้วยตัวเองหรือจะเข้าร่วมกลุ่มนักขุดที่เรียกว่า Pool ก็ได้เช่นกัน โดย Pool เปรียบเสมือนการรวมตัวกันของผู้ที่สนใจขุดเหรียญแต่ไม่มีกำลังมากพอจะไปสู้กับองค์กรใหญ่ๆ ข้อดีคือมีโอกาสที่จะขุดสำเร็จมากขึ้น แต่ข้อเสียก็คือรางวัลที่ได้จากการขุดจะถูกหารแบ่งกันภายใน Pool นั้น ๆ
อุปกรณ์ขุด
อันดับแรกที่ต้องเตรียมคืออุปกรณ์ อุปกรณ์ที่สามารถใช้ขุดได้ก็คือหน่วยประมวลผลของคอมพิวเตอร์นั่นเอง หากเป็นเครือข่ายบล็อกเชนเล็ก ๆ ก็อาจไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ที่ราคาสูงมากนัก อาจใช้ Laptop ในการขุดก็ได้ แต่สำหรับเครือข่ายใหญ่ อย่าง Bitcoin ก็อาจต้องลงทุนกับอุปกรณ์เฉพาะทางที่ราคาสูงขึ้นมาอีก โดยอุปกรณ์ที่ใช้ขุดได้มีดังนี้
1.CPU
CPU หรือ Core Processing Unit เป็นหน่วยประมวลผลกลางของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีความสำคัญมากที่สุดสำหรับคอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่งตามชื่อของมัน แต่ในเชิงของพลังในการประมวลผลแล้ว CPU ถือว่ามีพลังต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับบรรดาอุปกรณ์ในข้อถัด ๆ ไป
2.GPU
GPU หรือ Graphics Processing Unit หน่วยประมวลผลทางด้านกราฟฟิก หรือนิยมเรียกกันว่า “การ์ดจอ” ที่ใช้สำหรับการเล่มเกมนั่นเอง ซึ่งมีพลังในการประมวลผลที่ยกระดับขึ้นมาจาก CPU อยู่หลายขุม นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้การ์ดจอขาดตลาดไปช่วงหนึ่ง
3.FPGA
FPGA หรือ Field-Programmable Gate Array ป็นหน่วยประมวลผลที่สามารถถูกเขียนโปรแกรมเพื่อให้สามารถทำหน้าที่ตามต้องการได้ ไม่ว่าจะเป็น Counter, RAM, Decoder เป็นต้น
การมาของ FPGA ถือเป็นจุดเปลี่ยนของวงการการขุด ด้วยต้นทุนที่ถูกกว่า CPU หรือ GPU อีกทั้งยังกินพลังงานต่ำกว่า FPGA จึงมักจะถูกกว้านซื้อโดยองค์กรใหญ่ ๆ เพื่อมาตั้งโปรแกรมให้เป็นอุปกรณ์สำหรับการขุดโดยเฉพาะ
4.ASIC
ASIC หรือ Application-Specific Integrated Circuit หาก FPGA คือหน่วยประมวลผลที่สามารถนำมาเขียนโปรแกรมเพื่อให้ขุด ASIC ก็คือหน่วยประมวลผลที่ถูกประกอบขึ้นมาให้ทำหน้าที่ขุดเพียงอย่างเดียว ดังนั้น พลังในการขุดของ ASIC จึงมากกว่าอุปกรณ์อื่นเกือบ 100 แต่ก็แลกมาด้วยต้นทุนและการใช้พลังงานที่สูงกว่าอุปกรณ์ตัวอื่นด้วยเช่นกัน
โปรแกรมขุด
เมื่อมีอุปกรณ์แล้ว อันดับต่อไปคือการติดตั้งโปรแกรมสำหรับการขุด เช่น Bitcoin Miner, CGMiner, BFGMiner และโปรแกรมอื่น ๆ ซึ่งโปรแกรมเหล่านี้อาจสนับสนุนอุปกรณ์หรือเหรียญที่สามารถขุดได้แตกต่างกันออกไป บางตัวก็มีฟังก์ชันสนับสนุนการทำงานด้านอื่นด้วย เช่น ควบคุมความเร็วของพัดลมระบายอากาศ, โหมดประหยัดพลังงาน, รวมถึงหน้าตา Interface ที่แตกต่างกันออกไป
ลงทุนกับการขุดคุ้มค่าไหม?
การขุดก็ไม่ต่างอะไรไปกับการซื้อลอตเตอรี่ เพราะเราไม่รู้ว่าจะได้รางวัลหรือไม่ สิ่งที่ทำได้คือการซื้อหลาย ๆ ใบเพื่อเพิ่มโอกาสถูกรางวัล การขุดเหรียญเองก็เช่นกัน หากไม่ลงทุนซื้อเครื่องขุดโดยเฉพาะ แม้ว่าทางทฤษฎีจะเป็นไปได้ แต่โอกาสที่จะได้รางวัลก็ยังคงต่ำมาก โดยเฉพาะเครือข่ายใหญ่อย่าง Bitcoin ที่ถึงขั้นมีการตั้งโรงงานสำหรับขุดที่มี ASIC เป็นหมื่นตัวช่วยกันขุด
ดังนั้นคุณต้องพิจารณาตัวเองว่ามีกำลังพอที่จะเข้าแข่งขันในวงการนี้หรือไม่ ไม่ใช่แค่เรื่องของอุปกรณ์เท่านั้น ค่าไฟ สถานที่ การระบายอากาศ และปัจจัยอื่น ๆ ก็ต้องพร้อมเช่นกัน
อ้างอิง: Cointelegraph, Decrypt, The Balance
_________________________________________
บทความ Bitkub Blog ที่คุณอาจสนใจ
_________________________________________
มาเรียนรู้เรื่อง บิตคอยน์ (Bitcoin) และ Cryptocurrency ที่จะช่วยให้คุณเข้าใจโลกของคริปโทฯ ได้ดีขึ้น ที่ Bitkub Blog
หากคุณยังเป็นมือใหม่ ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ในบทความ “แหล่งความรู้ มือใหม่หัดเทรดคริปโต เริ่มต้นที่นี่”
*คริปโทเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัลมีความเสี่ยงสูง ท่านอาจสูญเสียเงินลงทุนได้ทั้งจํานวน โปรดศึกษาและลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้
**สินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยง โปรดศึกษาและลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้
***ผลตอบแทนของสินทรัพย์ดิจิทัลในอดีตหรือผลการดําเนินงานในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลตอบแทน ของสินทรัพย์ดิจิทัลหรือผลการดําเนินงานในอนาคต”
สกุลเงิน | ราคาล่าสุด (THB) | ซื้อขาย/ วัน |
---|