บทความ
CBDC คืออะไร? รู้จักเงินบาทแบบใหม่ที่คุณอาจได้ใช้เร็ว ๆ นี้!
เคยได้ยินคำว่าหยวนดิจิทัล ดอลลาร์ดิจิทัล หรือยูโรดิจิทัลกันไหม? สกุลเงินดิจิทัลเหล่านี้เรียกว่า CBDC หรือ Central Bank Digital Currency หมายความว่าเป็นเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางนั่นเอง แน่นอนว่า “บาทดิจิทัล” ก็กำลังถูกพัฒนาโดยธนาคารแห่งประเทศไทยเช่นกัน และเมื่อเร็ว ๆ นี้ก็เริ่มมีการทดสอบบาทดิจิทัลกับบางร้านค้าในประเทศไทยแล้ว
แล้ว CBDC แตกต่างจากคริปโทเคอร์เรนซีอย่างไร ถ้าเกิดขึ้นแล้วจะส่งผลกระทบกับคริปโทฯ อย่างไร ตอนนี้พัฒนาถึงไหนแล้ว เรามาหาคำตอบกันในบทความนี้ได้เลย!
CBDC คืออะไร?
CBDC หรือ Central Bank Digital Currency คือสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง สามารถใช้เป็นสื่อกลางเพื่อชำระค่าสินค้าและบริการ มีมูลค่าคงที่ และใช้ชำระหนี้ได้อย่างถูกต้างตามกฎหมาย ต่างจากคริปโทเคอร์เรนซีอย่าง Bitcoin, Ether ฯลฯ ที่มูลค่ามักผันผวนจากการเก็งกำไร CBDC จึงมีโอกาสถูกใช้ได้โดยประชาชนทั่วไป ไปจนถึงระดับสถาบันทางการเงิน
เช่นเดียวกับคริปโทฯ CBDC ของหลายประเทศก็ถูกสร้างขึ้นบนเทคโนโลยีบล็อกเชน เพื่อเพิ่มความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และความสะดวกรวดเร็วในการทำธุรกรรมให้กับผู้ใช้ จะเปรียบเทียบเป็น Stablecoin ที่ออกโดยธนาคารกลางก็ว่าได้ แต่ CBDC ของบางประเทศก็ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นบนบล็อกเชน
นอกจากนี้ CBDC ส่วนใหญ่ที่ทำงานบนบล็อกเชนจะเป็นระบบบล็อกเชนแบบปิด (Private Blockchain) ของธนาคารกลางเอง หมายความว่าทางธนาคารกลางหรือภาครัฐมีอำนาจในการตรวจสอบและควบคุม CBDC ของตัวเองในระดับหนึ่ง
CBDC จะส่งผลกับคริปโทฯ อย่างไร?
เนื่องจากทั้ง CBDC คริปโทเคอร์เรนซี และโทเคนดิจิทัล ต่างถูกสร้างขึ้นด้วยวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน โดย เฉพาะคริปโทฯ และโทเคนมีอยู่หลายสกุลในตลาด จึงสามารถอธิบายผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นโดยแบ่งเป็นประเภทได้ดังนี้
ผลกระทบของ CBDC ที่มีต่อ Bitcoin
สิ่งที่ Bitcoin แตกต่างกับ CBDC โดยสิ้นเชิงนั่นคือ Bitcoin เป็นแบบกระจายอำนาจ ขณะที่ CBDC เป็นแบบรวมอำนาจ นั่นหมายความว่าระบบของ CBDC มีโอกาสเกิดความผิดพลาดขึ้นมากกว่า อีกอย่างคือ Bitcoin ถูกสร้างขึ้นมาอย่างมีจำนวนจำกัด ทำให้หลายคนเลือกถือ Bitcoin เพื่อรักษาความมั่งคั่ง (Store-of-Value) จึงสามารถวิเคราะห์ได้ว่าการมาของ CBDC จะส่งผลกระทบน้อยหรือไม่ส่งผลกระทบต่อ Bitcoin ในระยะยาว
ผลกระทบของ CBDC ที่มีต่อ Ethereum และเครือข่าย Smart Contract อื่น ๆ
นอกจากเรื่องของการกระจายอำนาจแล้ว สิ่งที่เป็นจุดเด่นหลักของ Ethereum รวมถึงเครือข่ายอย่าง Cardano (ADA), Avalanche (AVAX), TRON (TRX) ฯลฯ ก็คือการรองรับ Smart Contract แบบสาธารณะที่ทำให้เกิดการพัฒนาแอปพลิเคชันรูปแบบต่าง ๆ ขึ้นบนเครือข่าย ไม่ว่า DeFi, GameFi, Layer 2 และนวัตกรรมอีกมากมายที่มาจากทั่วโลก ดังนั้น หาก CBDC ไม่ได้ถูกสร้างให้รองรับ Smart Contract หรือปิดกั้นให้เข้ามาพัฒนาได้เฉพาะกลุ่มเท่านั้น ก็คงไม่มีผลกระทบอะไรกับเครือข่าย Smart Contract สาธารณะเหล่านี้มากนัก
ผลกระทบของ CBDC ที่มีต่อ Stablecoin
เหรียญในกลุ่ม Stablecoin อย่าง USDT กับ USDC น่าจะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยอาจได้รับผลกระทบในด้านมูลค่าตลาดรวม (Marketcap) ที่อาจถูก CBDC ดึงออกไปได้ส่วนหนึ่ง แต่ Stablecoin ยังมีจุดเด่นที่ความสามารถในการทำงานร่วมกับ DeFi และบล็อกเชนสาธารณะได้ ดังนั้น หาก Stablecoin สามารถรักษาจุดเด่นนี้ไว้ก็จะสามารถดำรงอยู่ไปพร้อมกับ CBDC ได้
ความคืบหน้าล่าสุดของบาทดิจิทัล
ไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศแรก ๆ ที่เริ่มศึกษาและพัฒนา CBDC ทำให้ “บาทดิจิทัล” มีความก้าวหน้ามากกว่าประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค
เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2565 ทางธนาคารกลางแห่งประเทศไทยได้ประกาศว่าจะเริ่มทดลองใช้ CBDC ในระดับพื้นฐาน (Foundation track) เพื่อประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัย กับกลุ่มตัวอย่าง 10,000 คน และธนาคารยักษ์ใหญ่ในประเทศ 3 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารไทยพาณิชย์ และบริษัท ทูซีทูพี (ประเทศไทย) จำกัด โดยจะเริ่มช่วงปลายปี 2565 ไปจนถึงกลางปี 2566
นอกจากนี้ ยังมีการทดสอบในระดับนวัตกรรม (Innovation track) เกี่ยวกับความสามารถในการเขียนโปรแกรม (Programmability) เพื่อต่อยอดให้เกิดบริการทางการเงินใหม่ ๆ โดยจะเปิดให้เอกชนและบุคคลทั่วไปเข้าร่วมแข่งขันนำเสนอแนวคิดการนำ CBDC มาใช้ในทางธุรกิจ ผ่านโครงการ “CBDC Hackathon” ที่เปิดให้สมัครระหว่างวันที่ 5 สิงหาคม — 12 กันยายน 2565 (ติดตามรายละเอียดได้จากเว็บไซต์ ธปท.)
สรุป
CBDC หรือ Central Bank Digital Currency คือสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง สามารถถูกใช้เพื่อชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ซึ่ง CBDC อาจสร้างขึ้นบนเทคโนโลยีบล็อกเชนหรือไม่ก็ได้ ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละธนาคารกลาง
สำหรับผลกระทบต่อคริปโทเคอร์เรนซี คาดว่าจะมีผลกระทบน้อยสำหรับคริปโทฯ อย่าง Bitcoin หรือ Ethereum และเหรียญที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน เนื่องจากวัตถุประสงค์ที่ถูกสร้างขึ้นแตกต่างกับ CBDC แต่น่าจะมีผลกระทบค่อนข้างมากสำหรับเหรียญในกลุ่ม Stablecoin ที่อาจเสียมูลค่าทางตลาดให้กับ CBDC ได้
อ้างอิง Bank of Thailand, Investopedia, The Standard, Money Buffalo, Iconic Holding, efinanceThai
_________________________________________
บทความ Bitkub Blog ที่คุณอาจสนใจ
หุ้น vs. คริปโต แตกต่างกันอย่างไร?
Coin กับ Token ต่างกันอย่างไร?
มาย้อนดูการเติบโตของราคา Bitcoin กัน!
อธิบาย Bitcoin การเงินแห่งอนาคต
_________________________________________
มาเรียนรู้เรื่อง บิตคอยน์ (Bitcoin) และ Cryptocurrency ที่จะช่วยให้คุณเข้าใจโลกของคริปโทฯ ได้ดีขึ้น ที่ Bitkub Blog
หากคุณยังเป็นมือใหม่ ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ในบทความ “แหล่งความรู้ มือใหม่หัดเทรดคริปโต เริ่มต้นที่นี่”
*คริปโทเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัลมีความเสี่ยงสูง ท่านอาจสูญเสียเงินลงทุนได้ทั้งจํานวน โปรดศึกษาและลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้
**สินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยง โปรดศึกษาและลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้
***ผลตอบแทนของสินทรัพย์ดิจิทัลในอดีตหรือผลการดําเนินงานในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลตอบแทน ของสินทรัพย์ดิจิทัลหรือผลการดําเนินงานในอนาคต”
ที่มา:
Medium