บทความ

รู้จักกับ Ethereum สกุลเงินดิจิทัลอันดับ 2 ของโลก

image

เมื่อพูดถึงสกุลเงินดิจิทัล สิ่งแรกที่หลายคนนึกถึงมักจะเป็น Bitcoin แต่แท้จริงแล้วมีอีกสกุลหนึ่งที่ได้รับความสนใจไม่น้อยในวงการคริปโทเคอร์เรนซี นั่นคือ Ethereum นั่นเอง

Ethereum คืออะไร?

image

Ethereum ก็คือแพลตฟอร์มแบบกระจายศูนย์ (Decentralized) ที่มี Blockchain เป็นเทคโนโลยีเบื้องหลัง และมีเหรียญ Ether (ETH) เป็นตัวกลางในการทำธุรกรรมบนแพลตฟอร์ม

image

Ethereum ถูกสร้างขึ้นโดยนาย Vitalik Buterin ในเดือนกรกฎาคมปี 2015 จุดเด่นของ Ethereum ก็คือ สามารถประยุกต์ใช้ Smart Contact ในการทำธุรกรรมได้กว้างมาก โดย Smart Contract ก็คือชุดคำสั่งทางคอมพิวเตอร์ หรือ “โปรแกรม” ที่สามารถดำเนินการได้ด้วยตัวเองเมื่อครบเงื่อนไขที่ตกลงกันไว้

การมาของ Ethereum เป็นการปลดล็อคขีดจำกัดของ Blockchain ให้สามารถทำธุรกรรมแบบกระจายศูนย์หรือไม่ผ่านตัวกลางในรูปแบบอื่นๆได้ ไม่ว่าจะเป็น การกู้ยืม, การระดมทุน (ICO), ไปจนถึงการสร้างแอปพลิเคชันแบบกระจายศูนย์ (Decentralized Application)

Ethereum ต่างกับ Bitcoin อย่างไร?

image

ถึงแม้ Ethereum และ Bitcoin จะถูกเรียกว่าสกุลเงินดิจิทัลทั้งคู่ แต่จุดประสงค์ที่สกุลเงินเหล่านี้เกิดขึ้นมานั้นแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

Bitcoin เกิดขึ้นมาเป็นตัวกลางสำหรับการแลกเปลี่ยนสินค้าบนโลกอินเทอร์เน็ต โดยใช้ Blockchain ในการบันทึกธุรกรรม ทำให้เครือข่าย Bitcoin มีความปลอดภัยและโปร่งใส ได้รับการขนานนามว่าเป็น “ทองคำดิจิทัล”

ในขณะที่ Ethereum เกิดขึ้นมาเพื่อเป็นแพลตฟอร์มให้เหล่านักพัฒนาสามารถเข้ามาเขียน Application โดยมี Ether (ETH) เป็นตัวกลางในการทำธุรกรรมระหว่าง Application เหล่านี้

ความสำคัญของ Ethereum

Ethereum เข้ามาเปลี่ยนแปลงวงการเทคโนโลยีด้วย Decentralized Application (dApp) ซึ่งแตกต่างกับ Application ที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Google, หรือ Line ที่เป็น Centralized Application

สิ่งที่ dApp นำมาคือเรื่องของความน่าเชื่อถือและสามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ กล่าวคือ ผู้ใช้สามารถตรวจสอบชุดคำสั่งที่อยู่บน dApp ได้ และหากผู้ใช้มีความเข้าใจในภาษาคอมพิวเตอร์ก็จะสามารถเข้าใจได้ว่า dApp นั้นแท้จริงแล้วมีกลไกการทำงานอย่างไร โดยเฉพาะเรื่องของการเงินที่ต้องการความปลอดภัยและความโปร่งใสสูง ซึ่งการเงินแบบกระจายศูนย์จะถูกเรียกว่า Decentralized Finance (DeFi)

อีกปัจจัยหนึ่งคือ เนื่องจาก Blockchain คือเทคโนโลยีที่มีการกระจาย Node ประมวลผลออกไปทั้งเครือข่าย จึงไม่ต้องกังวลว่าผู้ให้บริการ Application นั้นๆจะประสบปัญหาต้องปิดตัวลง ทำให้ข้อมูลของผู้ใช้ที่อยู่บน Aplication นั้นๆสูญหายไป

นอกจากนี้ ยังมีคอนเซ็ปท์ของ DAO หรือ Decentralized Autonomous Organizations ซึ่งก็คือองค์กรแบบกระจายศูนย์ที่สามารถดำเนินกิจการและเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจได้อย่างอัตโนมัติ ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการซื้อ-ขาย การเจรจา การว่าจ้าง การตรวจสอบทรัพย์สิน ทั้งหมดนี้สามารถดำเนินการได้โดยอัตโนมัติ และลดความผิดพลาดที่มาจากมนุษย์ (Human Error) ลงไป เรียกได้ว่าเป็นการยกระดับ dApp ขึ้นไปอีกขั้นนั่นเอง

มูลค่าของ Ethereum มาจากไหน?

image

ภายในเครือข่าย Ethereum มีสกุลเงินที่เป็นตัวกลางในการทำธุรกรรมต่างๆบนเครือข่าย เรียกว่า Ether (ETH) ซึ่งเป็นสกุลเงินดิจิทัลที่มีปริมาณอุปทาน (Supply) ไม่จำกัด เดิมทีมูลค่าของ Ether มาจากปัจจัยดังต่อไปนี้

1.ใช้เป็นค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมผ่าน dApp (เรียกว่า Gas fee)

2.ใช้ค้ำประกันสำหรับการเขียน dApp

3.ใช้เป็นสื่อกลางสำหรับแลกเปลี่ยนสินค้าหรือโทเคน

4.ใช้ล็อก (Stake) เหรียญบนเครือข่ายเพื่อทำหน้าที่โหนดผู้ตรวจสอบ (Validator node)

จะเห็นได้ว่าหลักมูลค่าของ Ether จะเกิดขึ้นจากความต้องการใช้งาน dApp นี่เอง แต่ต่อมาเมื่อเครือข่าย Ethereum เริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้าง จึงมีปัจจัยอย่างการเก็งกำไรเข้ามาส่งผลกระทบต่อมูลค่าของ Ether ด้วยเช่นกัน

Ethereum 2.0

image

ความท้าทายที่ Ethereum กำลังเผชิญคือเรื่องของ Scalability หรือความสามารถในการรองรับจำนวนธุรกรรมที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากบนเครือข่ายนั่นเอง เนื่องจาก Ethereum ใช้ระบบ Proof-of-work มีข้อจำกัดในเรื่องของความเร็วและการใช้พลังงานที่สูงมาก ผู้พัฒนาจึงเกิดแนวคิดจะพัฒนาตัวเครือข่ายให้สามารถลบจุดอ่อนข้อนี้ไปให้ได้ จึงเกิดเป็น Ethereum 2.0

การมาของ Ethereum 2.0 จะเปลี่ยนระบบจาก Proof-of-work ไปเป็น Proof-of-Stake ทำให้ผู้ที่ต้องการยืนยันธุรกรรมบนเครือข่าย (Validator) ต้องทำการฝากเหรียญ Ether ขั้นต่ำ 32 เหรียญเข้าไปล็อคอยู่ในเครือข่าย เพื่อรับสิทธิ์เป็นผู้ยืนยันธุรกรรมและรับรางวัลจากการยืนยันธุรกรรม คล้ายกับการแข่งกันแก้สมการในระบบ Proof-of-work แต่กินพลังงานน้อยกว่าและเร็วกว่ามาก

ล่าสุด Ethereum ได้มีการเปลี่ยนไปใช้ระบบฉันมามติแบบ Proof-of-Stake โดยสมบูรณ์แล้วหลังจากการอัปเดต The Merge เมื่อประมาณเดือนกันยายน ปี 2022 ที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นการอัปเดตใหญ่ครั้งประวัติศาสตร์ของ Ethereum เลยทีเดียว

สรุป

Ethereum นับได้ว่าเป็นอีกเครือข่ายที่น่าจับตาพอๆกับ Bitcoin แม้จะถูกเรียกว่าสกุลเงินดิจิทัลทั้งคู่ แต่ Ethereum เกิดขึ้นมาเพื่อให้เหล่านักพัฒนาสามารถเข้ามาสร้างสรรค์ Application ต่างๆที่ให้ทั้งความปลอดภัยและโปร่งใส เรียกว่า Decentralized Application (dApp) ต่างกับ Bitcoin ที่เกิดขึ้นมาเพื่อเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนบนโลกอินเทอร์เน็ตโดยเฉพาะ

อ้างอิง: Ethereum, Cointelegraph, Investopedia

_________________________________________

ติดตามบทความที่น่าสนใจได้ที่นี่:

Blockchain คืออะไร เป็นเทคโนโลยีที่จะเข้ามาเปลี่ยนโลกหรือเปล่า?
Smart Contract คืออะไร?
อยากเป็นนักพัฒนาบล็อกเชนต้องเรียนภาษาโปรแกรมต่อไปนี้

_________________________________________

คำเตือน:

*คริปโทเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัลมีความเสี่ยงสูง ท่านอาจสูญเสียเงินลงทุนได้ทั้งจํานวน โปรดศึกษาและลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้

**สินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยง โปรดศึกษาและลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้

***ผลตอบแทนของสินทรัพย์ดิจิทัลในอดีตหรือผลการดําเนินงานในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลตอบแทน ของสินทรัพย์ดิจิทัลหรือผลการดําเนินงานในอนาคต

_________________________________________

บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021
อัปเดตเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2023

ที่มา:

Medium

ผู้เขียน: Waranyu Suknantee | 22 มี.ค. 66 | อ่าน: 39,259
บทความล่าสุด