Blog
รู้จัก “G-Token” พันธบัตรรัฐบาลในรูปแบบโทเคน ซื้อขายผ่านกระดานเทรดอย่าง Bitkub Exchange ได้หรือไม่?

รัฐบาลไทยกำลังเตรียมเปิดตัวนวัตกรรมทางการเงินใหม่ในรูปแบบโทเคนดิจิทัลที่เรียกว่า “G-Token” หรือ “Government Token” ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาปรับใช้กับการระดมทุนของภาครัฐ อาจนับเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้ไทยเป็นหนึ่งในประเทศแรกๆ ของโลกที่ออกโทเคนในลักษณะนี้
G-Token คืออะไร?
Government Token หรือ G-Token จัดอยู่ในประเภท Investment Token (โทเคนเพื่อการลงทุน) ภายใต้การกำกับดูแลของพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 มีลักษณะเป็น ตราสารหนี้ภาครัฐในรูปแบบดิจิทัล คล้ายพันธบัตรออมทรัพย์ โดยให้สิทธิแก่ผู้ถือในการได้รับเงินต้นคืนพร้อมดอกเบี้ยตามเงื่อนไขที่กระทรวงการคลังกำหนด แต่มาใน รูปแบบดิจิทัล 100% บนระบบบล็อกเชน ไม่ใช่เงินดิจิทัล สกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) ไม่สามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ซึ่งนับได้ว่าเป็นเครื่องมือที่รัฐบาลใช้ในการระดมทุนโดยตรงจากประชาชน มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเงินไปใช้ตามกรอบงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งรวมถึงการบริหารจัดการเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณประจำปี
กำหนดการการออก G-Token
เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2565 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้กระทรวงการคลังออก G-Token โดยมีแผนจะ เปิดให้ประชาชนจองซื้อได้ภายในช่วงเดือนกรกฎาคม โดยวางแผนเปิดจำหน่ายอย่างเป็นทางการในเดือนพฤศจิกายน 2568 ภายใต้ขนาดการทดลองที่เหมาะสม ก่อนพิจารณาขยายวงเงินหรือขอบเขตการดำเนินงานเพิ่มเติมในระยะถัดไป หากได้รับการตอบรับที่ดีจากประชาชน โดยมีวงเงินเบื้องต้นประมาณ 5,000 ล้านบาท มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเงินที่ได้ไปใช้ตามงบประมาณ และช่วยชดเชยการขาดดุลงบประมาณประจำปี
ซื้อ G-Token อย่างไร
ตามรายละเอียดของพรรคเพื่อไทยระบุว่า สามารถซื้อขาย G-Token ผ่านระบบระบบดิจิทัลของตลาดทุน ทั้งนี้คาดว่ายังอยู่ในช่วงหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องเพื่อวางโครงสร้างระบบให้มั่นคง ซึ่งรายละเอียดดังกล่าวจะติดตามกันต่อไปว่าจะมีรายละเอียดเมื่อไรและสามารถซื้อขายได้ที่ใดบ้าง
ทั้งนี้ผู้ที่สนใจสามารถเตรียมกระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อการลงทุนรูปแบบใหม่ในอนาคต เรียนรู้เพิ่มเติมเรื่องการเปิดบัญชีบิทคับ เอ็กซ์เชนจ์ ได้ตั้งแต่วันนี้ คลิกเลย
ลักษณะเด่นและการลงทุน
— รูปแบบดิจิทัลบนบล็อกเชน: ข้อมูลการเป็นเจ้าของและการทำรายการจะถูกบันทึกบนบล็อกเชน ทำให้มีความโปร่งใสและตรวจสอบได้
— วงเงินลงทุน: สามารถเริ่มต้นลงทุนได้ในวงเงินที่ไม่มากนัก
— ผลตอบแทนและความค้ำประกัน: รัฐบาล ค้ำประกันทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ตลอดอายุการลงทุน และให้ผลตอบแทนที่แข่งขันได้หรือดีกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากทั่วไป
— ระยะเวลาลงทุน: สั้น 1–3 ปี
— ผู้ลงทุน: ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลสามารถลงทุนได้
— ช่องทางการซื้อขาย: หากมีการพิจารณาเรียบร้อยแล้วสามารถซื้อผ่าน ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Exchange) หรือ ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO Portal) ที่ได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. รวมถึงผ่านแอปพลิเคชันของบริษัทหลักทรัพย์ที่ร่วมโครงการ
ข้อดีของ G-Token เมื่อเปรียบเทียบกับการเป็นพันธบัตรแบบดั้งเดิม
— เข้าถึงง่าย: ช่วยให้ประชาชนรายย่อยและคนรุ่นใหม่เข้าถึงการลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐได้สะดวกขึ้น (Financial Inclusion)
— สภาพคล่องสูง: สามารถซื้อขายเปลี่ยนมือในตลาดรองได้สะดวกเกือบเรียลไทม์
— ลดต้นทุนภาครัฐ: ช่วยลดภาระและต้นทุนในการบริหารจัดการพันธบัตรแบบเดิมของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ
— โปร่งใสและปลอดภัย: การบันทึกบนบล็อกเชนเพิ่มความน่าเชื่อถือและลดความเสี่ยงการทุจริต
— เสริมการออมเพิ่มการใช้งานระบบดิจิทัล: กระตุ้นให้คนหันมาออมและลงทุนในรูปแบบดิจิทัล สนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัล
ความเสี่ยงและข้อควรพิจารณา
— ความเสี่ยงด้านเทคโนโลยี: ความปลอดภัยของระบบบล็อกเชน หรือปัญหาการโจรกรรมทางไซเบอร์
— ความเสี่ยงด้านราคาและสภาพคล่อง: แม้จะมุ่งเพิ่มสภาพคล่อง แต่อาจยังมีความผันผวนของราคาในตลาดรอง (หากมี) และความสะดวกในการขายก่อนกำหนด
— ความเสี่ยงด้านกฎระเบียบ: การเปลี่ยนแปลงกฎหมายหรือนโยบายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
— ความเข้าใจและการเข้าถึงสินทรัพย์ดิจิทัล: ประชาชนที่ยังไม่คุ้นเคยกับสินทรัพย์ดิจิทัลอาจต้องใช้เวลาทำความเข้าใจ
— ข้อกังวล: เกี่ยวกับความโปร่งใสในการดำเนินโครงการ และความเสี่ยงด้านการฟอกเงินที่ต้องมีการกำกับดูแลอย่างเข้มงวด
G-Token ที่คนมักเข้าใจผิด
— G-Token ไม่ใช่คริปโทเคอร์เรนซีเหมือน Bitcoin แต่เป็น Investment Token (โทเคนเพื่อการลงทุน) เช่นเดียวกับ REALX และ SUMX
— ไม่สามารถนำ G-Token ไปซื้อของหรือชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ไม่สามารถนำไปใช้แลกเปลี่ยนสินค้าหรือบริการได้โดยตรง เป็นเพียงเครื่องมือในการระดมทุนและการลงทุน
— G-Token ออกโดยกระทรวงการคลังซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐบาลแตกต่างจากโทเคนอื่นๆ ที่สร้างโดยเครือข่ายแบบกระจายอำนาจ (Decentralized Networks) หรือองค์กรเอกชน
การกำกับดูแล
G-Token อยู่ภายใต้การกำกับดูแลตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้ง พ.ร.บ. การบริหารหนี้สาธารณะ และ พ.ร.ก. การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล โดยมี ก.ล.ต. เป็นผู้กำกับดูแลการปฏิบัติตามกฎหมาย และทำงานร่วมกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน
G-Token จึงถือเป็นทางเลือกการลงทุนใหม่ที่น่าสนใจในยุคดิจิทัล แต่ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลและทำความเข้าใจลักษณะ ข้อดี ข้อจำกัด และความเสี่ยงต่างๆ ก่อนตัดสินใจลงทุน
ที่มา:
ThaiPBS — ครม.อนุมัติ G-token เครื่องมือระดมทุนรูปแบบใหม่
ThaiPBS — รู้จัก “G-Token” พันธบัตรดิจิทัล ครม.เปิดโอกาสคนไทยร่วมลงทุน
กรุงเทพธุรกิจ — G-Token คืออะไร? นวัตกรรมลงทุนภาครัฐไทย เปิดมิติใหม่การลงทุนภาครัฐ
ไทยรัฐ — อธิบาย G-Token ทางเลือกใหม่ ลงทุนหนี้รัฐ ประชาชนเข้าถึงง่าย ซื้อขายผ่านกระดานเทรดสินทรัพย์ดิจิทัล
Facebook พรรคเพื่อไทย
คำเตือน
คริปโทเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัลมีความเสี่ยงสูง ท่านอาจสูญเสียเงินลงทุนได้ทั้งจํานวน โปรดศึกษาและลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้
Source:
Medium