บทความ

ติดดอยคืออะไร? พร้อม 4 วิธีพานักเทรดลงจากดอย

image

นักเทรดคริปโทฯ มือเก๋าคงเคยมีประสบการณ์ “ติดดอย” มาบ้างไม่มากก็น้อย แต่สำหรับมือใหม่ที่เพิ่งเข้าวงการส่วนมากมักไม่รู้ว่าเจ้าคำคำนี้มันคืออะไรกันแน่ ยิ่งในช่วงนี้ตลาดคริปโทเคอร์เรนซีมีความผันผวนสูงขึ้นเร็วลงแรงด้วยแล้ว ไม่ว่าใครก็มีโอกาสที่จะได้สัมผัสความหนาวของการติดดอยแบบไม่ทันคาดคิด

เพื่อให้คุณเข้าใจเรื่องการ “ติดดอย” รวมถึงสาเหตุอะไรกันแน่ที่ทำให้สถานการณ์ชวนหนาวจนขนลุกนี้เกิดขึ้น และสิ่งต่าง ๆ ที่ควรรู้ไว้จะได้เตรียมรับมืออย่างถูกต้อง เช่น วิธีที่ช่วยลดความรุนแรงของการติดดอย ฯลฯ เป็นต้น บทความนี้จะคอยบอกทุกสิ่งที่คุณควรรู้ ซึ่งจะช่วยให้คุณติดดอยน้อยลงจนถึงขั้นที่ไม่ติดเลยในอนาคต

ติดดอยคืออะไร…ทำไมถึงไม่มีใครอยากโดน

คำว่า “ติดดอย” หมายถึงการที่คุณหรือใครสักคนเข้าไปซื้อคริปโทฯ ในราคาหนึ่ง ต่อมาราคาเหรียญนั้นได้ตกลงจากราคาเดิมที่ซื้อไว้อย่างมาก และบางครั้งราคาที่คุณซื้อก็ได้กลายเป็น All Time High (ATH) หรือราคาสูงสุดของเหรียญดังกล่าว ซึ่งไม่มีใครรู้ว่ามูลค่าของเหรียญนั้นจะดีดกลับมาอยู่ในราคาที่คุณซื้อครั้งล่าสุดตอนไหน ซึ่งคนในวงการเรียกกันว่า “ติดดอย” นั่นเอง

ถ้าไม่ยังไม่เห็นภาพ เราจะยกตัวอย่างให้ดูแบบชัด ๆ สมมติว่า คุณซื้อ Bitcoin ผ่าน Bitkub ที่ราคา 1.7 ล้านบาทต่อ 1 บิตคอยน์ ผ่านมาไม่นานราคาเหรียญลงมาเหลือที่ 6 แสนบาท อย่างนี้คือคุณติดดอยแบบไม่ต้องสงสัย

คนที่ติดดอยคริปโทฯ จะต้องเจอกับอะไรบ้าง?

ใครก็ตามที่เข้ามาเทรดคริปโทฯ ล้วนอยากที่จะหาหนทางสร้างความมั่งคั่งให้กับตัวเองในยามที่ทั่วโลกกำลังเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อ ซึ่งหลายคนก็มักจะลงเอยด้วยการเทรดคริปโตระยะสั้น แต่กลับพบเจอสถานการณ์คริปโทเคอร์เรนซีราคาร่วงดิ่งอย่างไม่คาดฝัน และนั่นส่งผลให้นักเทรดหลายคนเจอภาวะต่าง ๆ มากมายเข้ามารุมเร้า ดังต่อไปนี้

เครียดตลอดเวลา กินไม่ได้ นอนไม่หลับ

ทันทีที่คุณเปิดดูข่าวของเหรียญที่คุณติดดอยและมีอยู่ในพอร์ตเป็นจำนวนมาก คุณก็รู้สึกร้อนรนว่าเมื่อไรเหรียญนั้นถึงจะดีดตัวกลับมาเป็นขาขึ้น นั่นอาจทำให้คุณมีความเครียดสะสม กินไม่ได้ นอนไม่หลับ เพราะไม่สามารถปล่อยวางจากเงินที่คุณได้เอาไปลงทุนในเหรียญที่ติดดอยอยู่ได้

ไม่กล้าลงทุนเพิ่ม กลัวความเสี่ยงทุกชนิด

นักเทรดที่กำลังเผชิญเหตุการณ์ติดดอยหลายคนมักมีความกลัวที่จะลงทุนในเหรียญอื่น ๆ เพิ่ม เพราะขาดความมั่นใจในสิ่งที่ตัวเองได้ตัดสินใจ หรือบางครั้งก็มาจากการลงทุนในเหรียญเดียวแบบหมดหน้าตัก ที่บรรดานักเทรดคริปโทฯ รู้จักกันว่าคือการ all-in

4 วิธีแก้ไขการติดดอย

หากคุณกำลังร้อนใจหลังรู้ว่าเหรียญที่ถืออยู่ได้ติดดอยรับลมหนาวที่ยอด All time high ไปเรียบร้อยแล้ว เราเข้าใจดีว่าคุณคงอยากถอนเงินที่ลงทุนไว้ออกมาให้ได้มากที่สุด โดยเราได้เตรียม 4 วิธีในการแก้ไขปัญหาการติดดอย พร้อมข้อดีและข้อสังเกตมาให้คุณได้ลองศึกษาและนำไปใช้จริงในยามที่คริปโทเคอร์เรนซีราคาร่วงต่อเนื่อง

1.HODL ไว้แล้วค่อยขายทีหลัง

คุณอาจเคยได้ยินคนพูดว่า “HODL” หรือ “ไม่ขายไม่ขาดทุน” คำนี้มีที่มาจากนักลงทุนในตลาดหุ้นและมีการนำมาใช้กับวงการคริปโทเคอร์เรนซีที่มีความผันผวนสูง ราคาขึ้นแรงลงเร็วแทบตลอดเวลาเช่นเดียวกัน ซึ่งแน่นอนว่ากลยุทธ์การถือเหรียญไว้ไม่ขายนี้ เป็นอะไรที่ช่วยให้นักเทรดรู้สึกอุ่นใจขึ้นมาบ้าง โดยเฉพาะเหรียญที่มีพื้นฐานดี เช่น Bitcoin, Ethereum และอื่น ๆ

ข้อดี

ไม่ขายหมู แม้ว่าคุณจะได้ซื้อเหรียญนั้นตอนที่มีราคาค่อนข้างสูงก็ตาม แต่การรอให้เหรียญนั้นพลิกกลับมาในเทรนด์ขาขึ้นก็เป็นอะไรที่คุ้มค่าต่อการรอคอย จบปัญหาที่คุณจะมานั่งบ่นพึมพำกับตัวเองว่า “วันนั้นเราขายเหรียญไปทำไม รออีกนิดราคาก็ To the moon แซงดอยที่เราซื้อไว้ไปแล้ว”

ข้อสังเกต

หลายคนมักจดจ่ออยู่กับการรอให้เหรียญที่ HODL ไว้กลับมาราคาขึ้นไวๆ เพราะทนไม่ได้ที่เห็นมูลค่าของเหรียญลดลงหลัก 20% ไปจนถึง 50% สถานการณ์แบบนี้แหละที่ทำเอานักเทรดคริปโทฯ ถอดใจไม่ยอมลงทุนต่อกันมานักต่อนักแล้ว

กรณีที่คุณ all-in เงินลงทุนทั้งหมดและถือ HODL คริปโทฯ เอาไว้เพียงเหรียญเดียวในพอร์ต นั่นเป็นการปิดโอกาสที่คุณจะได้ซื้อเหรียญอื่น ๆ เพื่อทำกำไรจากการขึ้นลงของตลาดคริปโทเคอร์เรนซีไปอย่างน่าเสียดาย

2. Cut Loss ยอมเจ็บ(นิดหน่อย) ดีกว่าขาดทุนหนัก

อะไรไม่ดีเรายังตัดทิ้ง นับประสาอะไรกับเหรียญที่กำลังจะดำดิ่งไปสู่จุดต่ำสุดที่ไม่มีใครรู้

ดังนั้นคุณจำเป็นที่จะต้อง Cut loss เหรียญยอมขายขาดทุนนิดหน่อย เพื่อป้องกันไม่ให้พอร์ตของคุณแย่ไปกว่านี้ นี่ถือเป็นอีกกลยุทธ์ที่นักเทรดคริปโทฯ รวมถึงหุ้นควรฝึกจิตใจเอาไว้เมื่อเจอสถานการณ์จริง

ข้อดี

เจ็บหน่อย แต่ไม่จุก เพราะการที่คุณ Cut loss เหรียญไปในราคาที่ไม่ได้ต่ำกว่าตอนที่ซื้อมามากนั้น อาจป้องกันการขาดทุนอย่างหนักหากคุณเลือกที่จะถือเหรียญนั้นต่อจนทำใจตัดขายไม่ลง

ฝึกให้คุณวางแผนการเล่นคริปโทฯ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนอะไรควรกำหนดจุดเข้าซื้อรวมถึงจุดขายไว้ตั้งแต่แรก ถ้าอยู่ดี ๆ ทิศทางตลาดไม่ได้เป็นอย่างที่คุณคาดการณ์เอาไว้ การตัดสินใจ Cut loss ก็นับเป็นอีกทางออกที่ช่วยไม่ให้คุณขาดทุนหนัก

นำเงินไปลงทุนต่อได้เร็วกว่า ไม่จำเป็นต้องถือเหรียญระยะยาวแล้วรอจนกว่าจะกลับมาในแดนบวก ที่คุณเองก็ไม่รู้ว่าเมื่อไร เพียงยอมขาดทุนเบา ๆ และนำไปซื้อเหรียญที่มีแนวโน้มดีกว่าในตลาดคริปโทเคอร์เรนซี คุณก็มีโอกาสที่จะได้เงินที่เสียไปจากการ Cut loss กลับมาหรืออาจได้มากกว่าเดิม

ข้อสังเกต

พูดง่ายแต่ทำยาก… ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนในคริปโทฯ หรือหุ้น ทุกคนต่างรู้ดีว่าการตัดสินใจ Cut loss เป็นอะไรที่บีบหัวใจมาก เพราะคนที่เข้ามาวงการนี้ต่างก็หวังที่จะได้กำไรกลับไป ไม่ใช่การเสียเงินต้นที่เอามาลงทุนไปแบบง่าย ๆ

3. DCA ลงทุนต่อเนื่องอย่างมีวินัย

หากคุณซื้อเหรียญใดแล้วดันติดดอยแบบงงๆ กลยุทธ์การลงทุนแบบ DCA หรือ Dollar-Cost Averaging ก็เป็นอีกวิธีที่จะช่วยให้มูลค่าพอร์ตของคุณไม่ดิ่งลงมาก โดยการซื้อเหรียญที่ติดดอยอย่างต่อเนื่องในความถี่ที่สม่ำเสมอ เช่น ทุกสัปดาห์หรือทุกเดือน และคุณไม่จำเป็นต้องกังวลเรื่องราคาเหรียญจะสูงหรือต่ำ เพราะคุณได้แบ่งเงินมาเฉลี่ยซื้ออย่างต่อเนื่อง ซึ่งในระยะยาวคุณก็มีโอกาสกลับมาทำกำไรได้เช่นกัน

ข้อดี

รับความเสี่ยงจากราคาคริปโทฯ ที่ผันผวนน้อยลง เนื่องจากการซื้อเหรียญอย่างสม่ำเสมอทั้งในช่วงที่ราคาสูงจนถึงต่ำ ทำให้คุณได้ครอบครองเหรียญในราคาเฉลี่ยตามระยะเวลาที่ซื้อ และส่งผลให้พอร์ตของคุณมีมูลค่าเพิ่มขึ้นในระยะยาว

ไม่ต้องนั่งตามข่าวหรือวิเคราะห์ตลาดคริปโทเคอร์เรนซี เพราะไม่ว่าราคาเหรียญจะพุ่งขึ้นหรือลงตามข่าวดีและข่าวร้าย คุณก็ยังคงซื้อเหรียญดังกล่าวอย่างสม่ำเสมอตามแผนที่ได้วางไว้ วิธีนี้เหมาะสำหรับคนใจเย็นและศึกษาเหรียญมาเป็นอย่างดี

สร้างวินัยในการเก็บออมรวมถึงลงทุนในสินทรัพย์ คนที่ลงทุนแบบ DCA จะมีนิสัยที่วางแผนการล่วงหน้าเพื่ออนาคต ทั้งในเรื่องการเก็บออมเงินไว้ใช้ยามฉุกเฉิน ซื้อกองทุนรวม หรือแม้กระทั่งหุ้น

ข้อสังเกต

โอกาสทำกำไรเหรียญอื่นๆ ลดลง เพราะคุณจะต้องนำเงินมาซื้อเหรียญที่ติดดอยไปก่อนหน้านี้ แถมยังต้องซื้ออย่างสม่ำเสมอในช่วงระยะเวลาหนึ่ง บางครั้งอาจนานหลายเดือนไปจนถึงเป็นปี นั่นทำให้นักลงทุนไม่สามารถแบ่งเงินมาลงทุนในเหรียญที่มูลค่ากำลังมีแนวโน้มจะขยับสูงขึ้นได้มากพอ

4. Stake หรือ farm เหรียญ

บางครั้งที่คุณพลาดซื้อเหรียญในราคาสูงลิบ Staking ก็เป็นอีกทางเลือกในการแก้ติดดอยได้เหมือนกัน เพียงนำเหรียญไปวางค้ำประกันเพื่อใช้ในการตรวจสอบธุรกรรมที่ทำผ่าน Blockchain ของแพลตฟอร์มต่าง ๆ และรับผลตอบแทนเป็นเหรียญตามที่ระบุไว้

สำหรับการ Farm เหรียญ หรือเรียกอีกชื่อ Yield farming คือการลงทุนในรูปแบบหนึ่ง ที่นักลงทุนนำเหรียญไปฝากไว้บน DeFi ที่ต้องการ ซึ่งเหรียญของคุณจะถูกใช้ในการเสริมสภาพคล่องให้กับ DeFi นั้น ๆ และจะมีการมอบผลกำไรเป็นเหรียญต่างๆ ตามฟาร์มที่คุณเลือก ซึ่งค่าตอบแทนได้มาจากค่าธรรมเนียมที่เกิดขึ้นบนแพลตฟอร์ม

ข้อดี

มีแพลตฟอร์มสำหรับ Staking และ Farming ให้เลือกจำนวนมาก คุณสามารถเลือกนำเหรียญคริปโทของคุณไปลงทุนบนแพลตฟอร์มไหนก็ได้ ซึ่งให้ผลตอบแทนเป็นเหรียญหรือโทเคนเป็นของแพลตฟอร์มนั้น ๆ หรืออาจเป็น Alt coin ก็ได้ และคุณสามารถขายเหรียญดังกล่าวเพื่อทำกำไร รวมถึงนำไปลงทุนเพิ่มเติมได้อีกด้วย ตัวอย่างเช่น คุณนำเหรียญ Bitkub Coin (KUB) มา Stake ที่ Bitkub Chain และรับผลตอบแทนเป็นเหรียญ KUB เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาที่ล็อกเหรียญไว้

ข้อเสีย

เหรียญถูกล็อก โดยการ Staking จะกำหนดระยะเวลาขั้นต่ำสำหรับการฝากเหรียญ ซึ่งหมายความว่าคุณไม่สามารถถอนเหรียญออกมาก่อนกำหนดได้ และกรณีที่เหรียญดังกล่าวราคาพุ่งสูงขึ้น คุณก็หมดโอกาสที่จะขายเพื่อทำกำไร

ก่อนที่คุณจะทำ Farm จำเป็นต้องศึกษาแพลตฟอร์ม DeFi ที่จะนำเหรียญไปลงทุนอย่างละเอียด เพราะการทำธุรกรรมทุกอย่าง ทั้งการจับคู่ ฝาก หรือถอนเหรียญล้วนมีค่า Gas รวมถึงมีโอกาสเกิด Impermanent loss และอาจร้ายแรงจนถึงขั้น DeFi ที่ลงทุนปิดตัวลงแบบดื้อ ๆ ก็มีมาแล้ว

การติดดอยเป็นเรื่องที่อาจขึ้นได้กับนักลงทุนคริปโทฯ ทุกคน แต่คุณก็สามารถที่จะป้องกันรวมถึงลดความรุนแรงหลังจากที่เกิดเหตุการณ์ติดยอดดอยอันหนาวเหน็บได้ ด้วยการเตรียมตัวเองให้พร้อมรับมือกับตลาดคริปโทเคอร์เรนซีที่มีความผันผวนสูง รวมถึงหมั่นศึกษาในเหรียญที่คุณสนใจอยากลงทุนให้ละเอียดก่อนจะซื้อ

_____________

ศึกษาเรื่อง บิทคอยน์ (Bitcoin), Cryptocurrency และความรู้อีกมากมายในวงการคริปโต กับ Bitkub Exchange ได้ที่ Bitkub Blog

* คริปโทเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัลมีความเสี่ยงสูง ท่านอาจสูญเสียเงินลงทุนได้ทั้งจํานวน โปรดศึกษาและลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้

** สินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยง โปรดศึกษาและลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้

*** ผลตอบแทนของสินทรัพย์ดิจิทัลในอดีตหรือผลการดําเนินงานในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลตอบแทน ของสินทรัพย์ดิจิทัลหรือผลการดําเนินงานในอนาคต

ที่มา:

Medium

ผู้เขียน: Preeyapa Taweewikyagan | 03 พ.ย. 65 | อ่าน: 7,420
บทความล่าสุด