บทความ
DAO คืออะไร? จะมา Disrupt การบริหารองค์กรแบบเก่าอย่างไร?
จะเกิดอะไรขึ้น? ถ้าไม่มีผู้นำที่ถูกเลือกมาจากคนกลุ่มใหญ่เพื่อเป็นกระบอกเสียงในการพัฒนาชุมชน
จะเกิดอะไรขึ้น? ถ้าบริษัทไม่มีผู้บริหารในการจัดการและกำหนดทิศทางของบริษัท
และจะเกิดอะไรขึ้น? ถ้าทุกคนมีสิทธิ์มีเสียงในการบริหารและกำหนดทิศทางของทุกอย่างบนโลกใบนี้ ผ่านเทคโนโลยีที่เรียกว่า “DAO”
วันนี้เราจะพาทุกคนมารู้จัก เทคโนโลยีที่เรียกว่า DAO (Decentralized Autonomous Organization) ที่จะมาเปลี่ยนแปลงการบริหารงานในรูปแบบเก่า ๆ โดยเปิดให้ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะสามารถกำหนดทิศทางการทำงาน เสนอไอเดียได้อย่างหลากหลาย และที่สำคัญ ทุกความเคลื่อนไหวสามารถตรวจสอบได้อย่างโปร่งใสโดยไร้คนกลางควบคุม
DAO คืออะไร
DAO หรือที่ย่อมาจาก Decentralized Autonomous Organization คือ การบริหารองค์กรแบบไร้ศูนย์กลาง พูดให้เข้าใจอย่างง่าย คือการบริหารองค์กรหรือชุมชน ที่มีการกระจายอำนาจให้กลุ่มคนที่ชอบอะไรคล้ายกันสามารถบริหารและกำหนดทิศทางร่วมกันได้ ผ่านการถือเหรียญที่เรียกว่า Governance Token โดยผู้ถือเหรียญสามารถทำการโหวตและนโยบายพัฒนาต่าง ๆ ได้เปรียบได้กับ สหกรณ์ ในรูปแบบ DAO ที่ให้สมาชิกลงเงินเพื่อนำไปซื้อของใช้เข้ามาในสหกรณ์นั่นเอง
วิวัฒนาการ DAO
แนวคิดของ DAO เริ่มมีมาตั้งแต่สมัยสกุลเงินดิจิทัลสกุลแรก ที่สร้างขึ้นมาเพื่อกระจายอำนาจอย่าง Bitcoin (ในปี 2009) และได้เริ่มมีการบริหารผ่านการโหวตของผู้ใช้งาน จนเริ่มมี Smart Contract เกิดขึ้นบนบล็อกเชนของ Ethereum (ในปี 2015) ทำให้เกิดแพลตฟอร์ม หรือโปรเจกต์ที่เปรียบเสมือนบริษัทที่ปรับรูปแบบเป็นการกระจายอำนาจขึ้นมามากมาย เช่น Uniswap, MakerDAO จนถึงปัจจุบัน
DAO เป็นเทคโนโลยีที่มีหลักการมุ่งเน้นในด้านความอิสระ (Autonomous) ความโปร่งใส (Transparency) และความหลากหลาย (Variety) ซึ่งคุณค่าของ DAO ไม่ได้อยู่ที่เหรียญ แต่อยู่ที่ผู้คนที่ชื่นชอบอะไรเหมือน ๆ กันมารวมตัวกันเพื่อพัฒนาสิ่งนั้นโดยไร้ตัวกลางเข้ามาเกี่ยวข้อง
วัตถุประสงค์ DAO
DAO คือความมุ่งมั่นในการแบ่งปันคุณค่ากับชุมชน โดยมุ่งเน้นหลักการดังนี้
1. ให้สมาชิกมีสิทธิ์มีเสียงในการกำกับดูแล
2. จัดสรรทรัพยากรเพื่อบรรลุภารกิจหลัก
3. บริหารทุกกิจกรรมให้เกิดความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด
ขั้นตอนโหวตบน DAO
เมื่อ Community ส่วนใหญ่บนโปรเจกต์เห็นพ้องตรงกันถึงข้อเสนอของสมาชิกท่านใดท่านหนึ่ง จะนำไปสู่การทำ Proposal และทำการโหวตผ่านการถือเหรียญ Governance Token อย่างเป็นทางการ โดยจะใช้เวลาปิด Proposal ในระยะเวลาไม่นาน ซึ่งแตกต่างจากการเสนอและตัดสินใจปิด Proposal ของบริษัทหลาย ๆ แห่งในปัจจุบัน
ตัวอย่างการใช้ DAO
ปัจจุบันมีการใช้ DAO เกิดขึ้นมามากกว่า 100 แห่ง ในรูปแบบต่าง ๆ ดังภาพประกอบต่อไปนี้
ภาพประกอบ Landscape ของ DAO จาก Coopahtroopa
1. DAO Operating System (ระบบปฏิบัติการแบบ DAO)
2. Investment DAOs (การลงทุนแบบ DAO)
3. Grants DAO (ทุนการช่วยเหลือแบบ DAO)
4. Collector DAOs (นักสะสมแบบ DAO)
5. Protocol DAOs (โปรโตคอลแบบ DAOs)
6. Service DAOs (การบริการแบบ DAOs)
7. Social DAOs (สังคมแบบ DAO)
8. Media DAOs (สื่อแบบ DAO)
และ DAO จะมาเปลี่ยนแปลงทุกภาคส่วนของสังคม ยกตัวอย่างเช่น
1. ภาคชุมชน: “Links DAO” เป็นโปรเจกต์ในรูปแบบ NFT ถูกสร้างขึ้นเพื่อลงทุนไปสร้างสนามกอล์ฟจริง โดยจะทำการขาย NFT ที่ถูกแบ่งออกเป็นสองระดับ คือ Leisure Membership และ Global Membership ซึ่งจะได้รับสิทธิและประโยชน์ที่แตกต่างกันออกไป
2. ภาคการกุศล: “Ukraine DAO” เป็นโปรเจกต์ในรูปแบบ NFT โดยศิลปินยูเครนใช้หลักการ DAO มาบริหาร ทำให้นักลงทุนสามารถส่งเงินจากที่ไหนก็ได้ในโลก โดยไม่ต้องเปิดเผยตัวตน เพื่อให้ทุกคนสามารถร่วมโหวตในโครงการต่าง ๆ ผ่านรูปภาพ NFT โดยไม่ถูกแทรกแซงจากรัฐบาลกลางใด ๆ
3. ภาคการเมือง: “City DAO” เป็นโปรเจกต์ทดลองบริหารเมืองผ่าน DAO หรือ Stateless ที่ไม่มีรัฐบาล แต่สามารถกำกับดูแลตนเองได้ โดยมีแค่ผู้ทำงานให้ระบบเป็นตัวกลางเท่านั้น ซึ่งเป็นโปรเจกต์ที่สร้างบน Ethereum
ปัญหาที่คาดว่าจะเกิดขึ้นบน DAO
“หากมีสมาชิกร่วมมือกันเพื่อถือเหรียญจำนวนเกินครึ่งของทั้งหมด ทำให้สามารถมีสิทธิ์กำหนดทิศทางของโปรเจกต์แบบผูกขาด แบบนี้ก็อาจจะไม่ได้เรียกว่า DAO”
ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก เนื่องจากทุกธุรกรรมต้องทำการเปิดเผยต่อสาธารณะ รวมถึงการมีผู้ตรวจการบัญชีที่คอยกำกับดูแลและแจ้งเตือนหากเกิดความไม่ยุติธรรม รวมถึง Community ส่วนน้อยจะแสดงความคิดเห็นลงบน Social ทำให้ความเชื่อมั่นในระบบด้อยค่าลงในอนาคต ไม่มีใครเสี่ยงที่จะเข้าร่วม และนำไปสู่การลดมูลค่าของ Governance Token ในที่สุด
เป็นยังไงกันบ้าง หลังจากเพื่อน ๆ ได้เห็นกลไกการทำงานของ DAO ไปแล้ว ก็พอจะเห็นถึงประโยชน์และโอกาสของ DAO และอาจเริ่มรู้สึกแล้วว่าอีกไม่นาน DAO จะมีอยู่ในทุกที่ของสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวคิดของ DAO จะถูกนำไปใช้ในภาคส่วนต่าง ๆ ของสังคมมากยิ่งขึ้น เพราะว่าอะไร ?
ก็เพราะว่า DAO หรือ Decentralize Autonomous Organization เป็นเทคโนโลยีที่เน้นชุมชนและส่วนรวมเป็นหลัก ทำให้มีความเป็นประชาธิปไตย โปร่งใส และมีการกระจายอำนาจให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมากกว่าระบบการบริหารแบบปัจจุบัน เนื่องจากการตัดสินใจที่สำคัญทั้งหมดจะถูกบันทึกไว้ในบล็อกเชนนั่นเอง
ไม่อยากพลาดข่าวสารโลกคริปโทฯ กดติดตาม Bitkub ไว้เลย
#นึกถึงBitcoinคิดถึงBitkub
ที่มา:
Medium