บทความ

Cryptocurrency คืออะไร และคุณควรที่จะลงทุนกับมันหรือไม่

image

เมื่อพูดถึงชื่อ Bitcoin หลาย ๆ ตอนนี้คงแทบจะไม่มีใครที่ไม่รู้จักหรือเคยได้ยินชื่อ แต่หากเอ่ยคำว่า cryptocurrency หรือเหรียญคริปโตเคอเรนซีนั้น บางคนอาจจะยังไม่คุ้นหูมากนัก หรืออาจจะจำสับสนระหว่างเหรียญ Bitcoin กับเหรียญ cryptocurrency หรือร้ายแรงยิ่งกว่านั้นก็อาจจะถูกกลุ่มผู้ไม่หวังดีหลอกลวงให้ไปลงทุนในสิ่งที่พวกเขาบอกว่าเป็นเหรียญที่เหมือนกับ Bitcoin ทั้ง ๆ ที่การลงทุนนั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับ cryptocurrency เลยแม้แต่นิดเดียว ซึ่งในบทความนี้ ทางสยามบล็อกเชนจะช่วยอธิบายถึงคำจำกัดความของ cryptocurrency อย่างละเอียด และช่วยผู้อ่านในการพิจารณาว่า “คุณควรที่จะลงทุนกับมันหรือไม่”

Cryptocurrency คืออะไร

“ไม่ต้องเรียนเรื่องเทคโนโลยีหรอก ผมอยากเทรดเลย”

คำกล่าวที่มือใหม่หลาย ๆ คนพยายามบอกอย่างเร่งเร้าเมื่อกำลังเริ่มเข้ามาศึกษา cryptocurrency

แต่หากลองคิดถึงหลักความเป็นจริงแล้วนั้น ประโยคบอกเล่าข้างต้นอาจจะทำให้นักลงทุนคริปโตมือเก๋าหลาย ๆ คนต้องส่ายหน้า เพราะสำหรับการเลือกที่จะศึกษาการทำกำไรอย่างเดียวโดยไม่ศึกษาถึงที่มาที่ไป และแก่นเบื้องหลังที่คอยขับเคลื่อน Cryptocurrency นั้นถือเป็นเรื่องที่ไม่เพียงจะทำให้คุณหมดตัวได้ในระยะเวลาอันสั้นเท่านั้น แต่อาจทำให้คุณเกลียดวงการนี้ไปเลยก็ได้ (เพราะทำให้คุณหมดตัว)

Cryptocurrency หรือหากแปลเป็นไทยตรงตัวก็คือ “สกุลเงินที่ถูกเข้ารหัส” ซึ่งเป็นการเล่นคำสองคำคือ cryptography และ currency เข้าด้วยกัน นั่นหมายความว่า Bitcoin, Ethereum, Litecoin ที่คุณได้ยินเพื่อน ๆ หรือบนทีวีพูดกันนั้นเป็นสิ่งที่ไม่มีตัวตน และจับต้องไม่ได้ ซึ่งมันจะทำงานอย่างลับ ๆ ในคอมพิวเตอร์ สิ่งที่คุณจะสามารถมองเห็นได้ก็มีเพียงแค่ตัวเลข

ลองมาดูการเข้ารหัสและถอดรหัสแบบง่าย ๆ โดยอ้างอิงจากเว็บ md5decrypt.net หากคุณลองทดสอบนำเอาข้อความคำว่า “สวัสดีครับ” เข้าไป encrypt หรือเข้ารหัสไว้สิ่งที่คุณจะได้ก็จะมีลักษณะแบบนี้

6E795F1D3F0BA8EB3A9372CF2A20ACDD90A3F59E5A33583E7E7D19C818B416BB

และเช่นเดียวกัน ถ้าหากว่าคุณนำเอาชุดตัวเลขดังกล่าวไปถอดรหัสบนเว็บดังกล่าว ก็จะได้กลับมาเป็นคำว่า “สวัสดี” ซึ่งความน่าสนใจก็คือ ถ้าหากคุณเพิ่มตัวอักษรเข้ามา 1 ตัว หรือทำการลดตัวอักษรหนึ่งตัวละก็ ชุดตัวเลขและตัวหนังสือเหล่านั้นก็จะถูกเปลี่ยนใหม่หมด

เอาล่ะ นั่นคือพื้นฐาน แต่สำหรับ Cryptocurrency มันมีมากกว่านั้น

รู้จักกับ Public key และ Private key

หากมีแค่การเข้าและถอดรหัสแบบง่าย ๆ เราคงใช้ Cryptocurrency กันไม่ได้แน่นอน โชคดีที่เรามีการเข้ารหัสแบบ public-key cryptography หรือพูดง่าย ๆ ก็คือการเข้าและถอดรหัสแบบการใช้กุญแจ

เพียงแต่กุญแจที่เรากำลังพูดถึงนี้ ไม่ใช่การหยิบดอกกุญแจที่อยู่ในกระเป๋ากางเกงของคุณมาไขแต่อย่างใด กุญแจที่ว่านี้จะมีอยู่สองแบบ ซึ่งก็คือ public key และ private key

โดยลักษณะหน้าตาของ public key จะเป็นแบบนี้

02a1633cafcc01ebfb6d78e39f687a1f0995c62fc95f51ead10a02ee0be551b5dc

ในขณะเดียวกัน private key ก็จะมีลักษณะแบบนี้

b221d9dbb083a7f33428d7c2a3c3198ae925614d70210e28716ccaa7cd4ddb79

หากคุณดูแล้วทำให้ตาลาย เราจะลองให้คุณจินตนาการถึงล็อคสำหรับตู้เซฟ และกุญแจตู้ล็อคดู ตามรูปด้านล่าง

สมมติว่าตู้ล็อคนี้เป็นของสมศักดิ์ และล็อคนั้นจะมีรูปแบบในการล็อคสามขั้นตอนคือ A (ล็อค), B (ปลดล็อค) และ C (ล็อค)

โดยกุญแจสำหรับตู้ล็อคนี้จะมีอยู่สองดอกก็คือ ดอกแรกสามารถใช้หมุนได้ตามเข็มนาฬิกา (จาก A ไป B ไป C) และในขณะเดียวกันดอกที่สองคือสามารถใช้หมุนทวนเข็มนาฬิกา (C ไป B ไป A)

สมศักดิ์หยิบกุญแจดอกแรก และเก็บไว้กับตัวของเขาเอง เราจะเรียกกุญแจดอกนี้ว่า “private key” เนื่องจากว่ามันเป็นกุญแจส่วนตัว และมีเพียงสมศักดิ์คนเดียวเท่านั้นที่มีมัน

ส่วนกุญแจดอกที่สองนั้นจะถูกเรียกว่า “public key” ซึ่งสมศักดิ์จะทำการก็อปปี้กุญแจดอกนี้ไว้นับร้อย หรือเท่าไรก็ได้ตามที่เขาต้องการ และแจกมันให้กับเพื่อนของเขา และครอบครัวของเขา บางทีเขาก็วางมันไว้บนโต๊ะของเขา, ในออฟฟิศของเขา หรือแขวนมันไว้ที่ประตูหน้าบ้านของเขา ซึ่งถ้าหากว่ามีใครถามหานามบัตรของสมศักดิ์ เขาก็จะให้กัญแจดอกนี้ไปพร้อม ๆ กันด้วย

ทีนี้มาลองดูกันอีกที สมศักดิ์มี private key ที่สามารถหมุนจากจุด A ไป B ไป C ได้ ในขณะที่เพื่อน ๆ คนรู้จักของสัมษักดิ์ทุกคนจะถือ public key ที่สามารถหมุนจาก C ไป B ไป A

ขั้นแรกคือลองจินตนาการดูว่าถ้าหากคุณต้องการจะส่งเงินให้สมศักดิ์เป็นค่าจ้างปั่นราคานั้น คุณก็จะโยนเงินนั้นใส่เข้าไปในตู้เซฟ และใช้กุญแจ public key ที่ก็อปมานั้นทำการล็อคมัน จำไว้ให้ดีว่ากุญแจ public key ของสมศักดิ์นั้นสามารถหมุนได้ทวนเข็มนาฬิกาเท่านั้น ดังนั้นเมื่อคุณใส่เงินเข้าไปแล้ว คุณก็จะต้องหมุนกุญแจไปตำแหน่ง A ซึ่งในขณะนี้ตู้เซฟนั้นได้ถูกล็อคไว้เรียบร้อยแล้ว และมีเพียงกุญแจดอกเดียวเท่านั้นที่สามารถหมุนจากตำแหน่ง A ไป B ได้ ซึ่งก็คือ public key ของสัมศักดิ์เท่านั้น

สรุปง่าย ๆ ก็คือ ใครที่มี public key ของสมศักดิ์นั้น จะสามารถส่งอะไรก็ได้ให้ไปในตู้เซฟของเขา, ล็อคมัน และคนที่จะทำการเปิดมันได้จะมีเพียงแค่เจ้าของตู้เซฟและ private key นั้น ซึ่งก็คือสมศักดิ์

กระนั้น มันก็ยังมีกรณีการใช้งานแบบพิเศษสำหรับตู้เซฟที่ว่านี้อยู่

ลองจินตนาการว่าถ้าสมศักดิ์ใส่เอกสารสำคัญเข้าไปในตู้เซฟนั้นด้วยตนเอง และเขาใช้ private key ของเขาทำการล็อคตู้นั้น และหมุนไปที่ตำแหน่ง C

คำถามคือ เขาจะทำแบบนั้นทำไม เพราะว่าใครก็ตามที่มี public key จะสามารถปลดล็อคมันได้หมด!

เดี๋ยวก่อน ให้ลองจินตนาการต่อ เมื่อมีคนส่งตู้เซฟนี้มาให้คุณ และบอกว่ามันเป็นของสมศักดิ์ คุณไม่เชื่อเขา คุณจึงลองทดสอบไปหยิบ private key ของสมศักดิ์ที่คุณเคยเก็บไว้มาลองไขดู และลองหมุนไปด้านขวาดู ปรากฏว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่เมื่อคุณลองหมุนไปด้านซ้าย ตู้เซฟนี้เปิดออก! ตอนนี้คุณเชื่อแล้วว่าตู้เซฟนี้เป็นของสมศักดิ์จริง เพราะสิ่งเดียวที่นั่นหมายถึงก็คือตู้เซฟนี้ถูกล็อคได้โดยสมศักดิ์คนเดียวเท่านั้น

ดังนั้นตอนนี้คุณรู้แล้วว่ามีเพียงแค่สมศักดิ์ที่ใส่เอกสารลงไปในตู้เซฟนี้ ไม่ใช่ใครคนอื่นที่ไหน โดยเราเรียกสิ่งนี้ว่า “digital signature” หรือลายเซ็นดิจิตอลนั่นเอง

สรุปง่าย ๆ คือเมื่อคุณทำการเข้ารหัส (ล็อค) มันด้วย public key มีเพียงคนที่ถือ private key เท่านั้นที่สามารถปลดล็อคมันได้

และเช่นเดียวกัน เมื่อคุณทำการเข้ารหัส (ล็อค) มันด้วย private key ใครก็ตามที่มี public key จะสามารถถอดรหัส (ปลดล็อค) มันได้ แต่วิธีการดังกล่าวนั้นถูกใช้เพื่อเป็นการยืนยันว่าตู้เซฟดังกล่าวนั้นถูกเซ็นและยืนยันด้วยตัวของคุณเองเท่านั้น

แล้วมันเกี่ยวกับ Cryptocurrency อย่างไร?

นั่นสิ

ถ้าหากจะพูดคุยถึงเรื่องของสกุลเงินนั้น ลองย้อนกลับไปในเรื่องของพื้นฐานการใช้เงินก่อน

ลองจินตนาการดูว่าเมื่อคุณจะทำการซื้อกาแฟเพียงแค่หนึ่งแก้วด้วยเงินสดธรรมดาทั่วไปนั้น สิ่งที่คุณทำเพียงแค่ควักเงินในกระเป๋าของคุณที่มีตัวเลขบอกมูลค่าของมันอยู่ (ว่ามีกี่บาท) และยื่นมันไปให้ผู้ขายกาแฟ ก่อนที่บาริสตาใจดีจะยื่นกาแฟส่งมาให้คุณและรับเงินของคุณไป

ปัญหาของเงินสดในปัจจุบันก็คือ มันถูกเปลี่ยนมือเป็นร้อยเป็นพันครั้ง และไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้ว่าธนบัตรในมือของพวกเขาเขานั้นเคยผ่านใครมาบ้าง ซึ่งทำให้การติดตามและค้นหาเส้นทางการทำธุรกรรมสำหรับเงินสดนั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย

สกุลเงินดิจิตอลจึงถูกคิดค้นขึ้นมาแก้ไขปัญหานี้ ซึ่งความแตกต่างก็คือ สกุลเงินดิจิตอลนั้นถูกสร้างขึ้นมาในรูปแบบดิจิตอลเท่านั้น ไม่สามารถจับต้องได้ ลองจินตนาการง่าย ๆ ว่าเราลองทำการสแกนธนบัตรมูลค่าห้ายูโรออกมาเป็นไฟล์คอมพิวเตอร์ แล้วตั้งชื่อมันว่า ‘five-euros.jpg’ ซึ่งเมื่อมันถูกแปลงเป็นเงินดิจิตอลแล้วนั้น มันจะมีข้อได้เปรียบมากมาย แต่ก็ยังมีผลเสียมาด้วยเช่นกัน เช่นไฟล์เงินดิจิตอลเหล่านี้สามารถถูก copy และ paste ได้ไม่จำกัด อีกทั้งยังไม่สามารถแยกความแตกต่างระหว่างเงินของจริงและเงินดิจิตอลได้

ธุรกรรมการซื้อขายแบบธรรมดาทั่วไป

ลองจินตนาการดูว่าคุณเป็นผู้ขายกาแฟ และลูกค้าทำการ copy ไฟล์เงิน ‘five-euros.jpg’ มาจ่ายคุณ และยังนำมันไปจ่ายที่ร้านอื่นอีกด้วย เนื่องจากว่าไฟล์สองไฟล์นี้เหมือนกันทุกอย่าง จึงทำให้ไม่สามารถแยกได้ว่าใครเป็นเจ้าของที่แท้จริงของไฟล์เงินดังกล่าว

และข้อเสียอีกข้อหนึ่งก็คือ เมื่อมันถูก copy และ paste ได้ไม่จำกัด นั่นจึงหมายความว่าผู้ที่ทำการ copy นั้นจะสามารถจ่ายเงินกี่ครั้งก็ได้ตามที่พวกเขาต้องการ (ทำตัวเสมือนเป็น FED ที่สร้างเงินได้เอง)

การ double spending หรือจ่ายสองครั้ง

Cryptocurrency จึงถูกคิดค้นมาเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวนี้

ลองดูภาพด้านบน เมื่อผู้รับเงินต้องการที่จะตรวจสอบว่าไฟล์เงิน ‘five-euros.jpg’ นี้เป็นของใคร เขาสามารถที่จะรอให้ต้นทางเซ็นชื่อของเขาโดยใช้ private key (ตามที่ได้อธิบายไปแล้วก่อนหน้านี้) และส่งมันไปพร้อม ๆ กับไฟล์ดังกล่าว สองอย่างนี้รวมกันคือ digital token และเมื่อปลายทางได้รับ token ดังกล่าวแล้วก็สามารถที่จะตรวจสอบมันได้ด้วย public key ของเขา เพื่อยืนยันว่า five-euros.jpg ตัวนี้เป็นของใคร ธุรกรรมครั้งนี้นับเป็นหนึ่งธุรกรรม

แต่สำหรับ Bitcoin หรือ cryptocurrency มันมีมากกว่านั้น เมื่อธุรกรรมทั้งหมดนี้ถูกจัดเก็บเอาไว้ใน…

สมุดบัญชี

สิ่งหนึ่งที่ทำให้ระบบการจัดการด้าน Internet banking หรือการทำธุรกรรมในปัจจุบันผ่านอินเทอร์เนตอยู่ได้นั้นคือ ledger หรือสมุดบัญชีที่เอาไว้ใช้บันทึกข้อมูลการทำธุรกรรมทั้งหมด หากปราศจากซึ่งสมุดบัญชีแล้ว เงินเหล่านั้นก็คงไม่ต่างจาก ‘five-euros.jpg’ ที่ copy และ paste และส่งหากันอย่างไร้การควบคุม

สิ่งหนึ่งที่ทำให้ cryptocurrency หรือ Bitcoin นั้นแตกต่างจากสกุลเงินดิจิตอลธรรมดาทั่ว ๆ ไปนั้นก็คือการบันทึกธุรกรรมของมันนั้นถูกเก็บไว้บนสมุดบัญชีที่เรียกว่า Blockchain (ซึ่งเราจะอธิบายมันในบทความถัดไป)

Bitcoin เป็นสกุลเงินดิจิตอลที่ใช้เทคนิคการเข้าและถอดรหัสในรูปแบบด้านบน เมื่อตัวเลขที่ไม่สามารถถูกจับต้องได้ถูกส่งจากบุคคลหนึ่งสู่อีกบุคคลหนึ่ง สมุดบัญชีที่ว่านี้จะทำการเก็บข้อมูลธุรกรรมที่ว่านี้ไว้

หากคุณอยากจะเปิดบัญชีธนาคารสักแห่งหนึ่ง สิ่งที่คุณต้องทำก็แค่เดินเข้าธนาคารที่คุณชอบ และกำเงินเข้าไปขอเปิดบัญชี สิ่งที่คุณจะได้รับกลับมาก็คือสมุดบัญชีหนึ่งเล่ม ที่มีเลขบัญชีและชื่อของคุณสลักไว้

แต่สำหรับ Bitcoin นั้น ทุก ๆ คนสามารถที่จะสร้าง public และ private key ที่สามารถถูกใช้ได้โดยเปรียบเสมือนกับบัญชีธนาคารเพื่อรับเงิน (เหมือนกับที่อธิบายไว้ในเคสของสมศักดิ์ด้านบน) โดย public key ที่ว่านี้เราจะเรียกมันว่า ‘Bitcoin address’ ซึ่งของแต่ละคนจะไม่มีวันเหมือนกันและซ้ำกันได้เมื่อถูกระบบสร้างมันออกมา

การสร้างคู่ public-key แบบ ECDSA ของ Bitcoin ขึ้นมา

ดังนั้นหากจะให้เปรียบก็คือ address ของ Bitcoin นั้นก็ไม่ต่างจากเลขบัญชีธนาคาร เพียงแต่ว่ามันไม่ได้ถูกผูกกับธนาคารใด ๆ ไว้ และไม่มีใครมาเป็นเจ้าของมัน

ลองทำธุรกรรม Bitcoin ดู

เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ทำธุรกรรมนั้นเป็นเจ้าของ Bitcoin นั้นจริง ๆ การทำธุรกรรมนั้นจะต้องถูกเซ็นกำกับด้วย private key หรือเจ้าของ Bitcoin address ตัวนั้น (ลองจินตนาการว่าเขาเป็นลูกค้าของคุณ) และภายหลังจากนั้นลายเซ็นของผู้ทำธุรกรรมและรวมถึง public key ของเขาก็จะถูกแทรกมาไว้ในธุรกรรมนั้น ซึ่งนั่นสามารถทำให้ทุก ๆ คนสามารถเข้ามาตรวจสอบ ธุรกรรม Bitcoin นั้นได้ว่าถูกส่งมาจากเจ้าของตัวจริง ที่มี Bitcoin จำนวนนั้นจริง ๆ

การทำธุรกรรม Bitcoin แบบง่าย ๆ

แม้ว่าทุก ๆ คนจะมี public key ของผู้ทำธุรกรรมนั้นหมด แต่ในเชิงทฤษฎีแล้ว ไม่มีใครสามารถรู้ได้ว่าตัวตนของเจ้าของ public key คนนั้นเป็นใคร ซึ่งก็เช่นกันกับ Bitcoin ปัจจุบันมี address นับล้านล้าน address แต่ไม่มีใครสามารถรู้ได้เลยว่า address นี้เป็นของใคร

กระนั้น การยกตัวอย่างด้านบนเป็นการทำธุรกรรม Bitcoin แบบง่าย ๆ ระหว่างคนสองคนมาเจอหน้ากัน ซึ่งหากเกิดขึ้นในชีวิตจริง เราก็คงทราบดีว่าเราได้รับ Bitcoin มาจากคน ๆ นี้

แต่ความซับซ้อนจะเริ่มขึ้นหลังจากนั้น เนื่องจากว่า cryptocurrency นั้นแตกต่างจากสกุลเงินดิจิตอลแบบเก่า ดังนั้นธุรกรรมที่เกิดขึ้นต่อหลังจากนี้จะไม่ถือเป็นการสร้างเงินขึ้นมาส่งใหม่ แต่จะเป็นการถูกนำไปส่งทำธุรกรรมต่อ ความได้เปรียบของ Bitcoin หรือ cryptocurrency นั้นก็คือ Blockchain ที่ทำหน้าที่เป็นสมุดบัญชีเก็บธุรกรรมเหล่านี้จะเก็บหลักฐานการทำธุรกรรมไว้หมดตั้งแต่อดีตปฐมกาล จนถึงปัจจุบัน นั่นหมายความว่าผู้ใช้งานสามารถที่จะตรวจสอบหาแหล่งที่มาได้ไปจนถึงจุดเริ่มต้นของมันเลย

Bitcoin ที่ถูกรับมาแล้ว สามารถนำไปใช้จ่ายต่อได้ และสมุดบัญชีก็จะบันทึกที่มาของมันไว้

หลาย ๆ ครั้งที่การบันทึกการทำธุรกรรมนั้นค่อนข้างที่จะซับซ้อน ซึ่งจำนวนทศนิยมของ Bitcoin นั้นสามารถที่จะถูกแบ่งแยกย่อยได้เยอะมาก ตามรูปภาพด้านล่าง

ธุรกรรม 1

ธุรกรรม 2

นั่นหมายความว่า ผู้ที่ซื้อ Bitcoin ไม่จำเป็นต้องบังคับตัวเองให้ซื้อ 1 BTC เสมอไป แต่คุณสามารถที่จะเลือกซื้อมันเป็นจำนวนเล็กน้อยอย่าง 0.00001356 BTC ได้

แต่นั่นทำให้เกิดคำถามเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งคำถามว่า

คุณควรจะซื้อหรือลงทุนมันดีไหม

มาจนถึงตอนนี้ เมื่อคุณได้รู้ถึงราคาที่พุ่งขึ้นอย่างรุนแรงของมัน รวมถึงเทคโนโลยีและการทำงานเบื้องหลังของมันแล้ว คุณมีคำถามเกิดขึ้นในหัวมากมาย หนึ่งในนั้นคงจะหนีไม่พ้นว่าคุณควรที่จะจัดให้มันเป็นหนึ่งในทรัพย์สินบนพอร์ทการลงทุนของคุณหรือไม่

เป็นที่ทราบกันดีว่า 1 Bitcoin ในขณะนี้นั้นไม่ถูกอีกต่อไปแล้ว โดยในขณะที่เขียนบทความอยู่นี้ มันมีราคาถึง 298,177 บาท อ้างอิงจากเว็บ TDAX

แม้ว่าราคาของมันจะก้าวกระโดดขึ้นมามากมายจากราคาเพียงแค่ไม่ถึง 100 บาทเมื่อสมัยปี 2009 นั้น สิ่งที่ทำให้นักลงทุนหลาย ๆ คนกระโดดเข้ามาในตลาดอันเชี่ยวกรากนี้ก็ยังมีเยอะมากในปัจจุบัน ทางสยามบล็อกเชนได้พยายามรวบรวมความเห็นส่วนตัวและข้อแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญหลาย ๆ คนมาช่วยสรุปให้แล้วเป็นข้อ ๆ ดังนี้

คุณควรที่จะลงทุน Cryptocurrency ก็ต่อเมื่อ

คุณมีความเข้าใจในเทคโนโลยีที่หนุนหลังมันไว้ รวมถึงการใช้งานเบื้องต้น

คุณเชื่อว่าเทคโนโลยี Blockchain จะมาแทนที่ระบบ centralized trust แบบเก่า ๆ

คุณมีเงินเย็นที่ไม่ได้ไปกู้ยืมใครมา และเงินเย็นนี้คุณสามารถที่จะสูญเสียมันไปได้โดยไม่เสียดายอะไรมากนัก

คุณพอจะรู้เรื่องเศรษฐศาสตร์พื้นฐานบ้าง

คุณมีความรู้สึกกระหาย อยากจะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อย่างเช่น technical analysis เพิ่มเติม

คุณเริ่มที่จะอธิบายเรื่องราวของเทคโนโลยีดังกล่าวให้เพื่อน ๆ หรือครอบครัวของคุณเข้าใจได้

คุณสามารถแยกแยะได้ว่า cryptocurrency กับพวกสกุลเงินดิจิตอลแชร์ลูกโซ่ดัง ๆ ตัวอื่นนั้นคือคนละเรื่องและคนละอย่างกัน

คุณทำตามข้อ 7 ได้แล้ว และคุณก็ไม่ไปลงทุนในแชร์ลูกโซ่เหล่านั้น

คุณมีความแน่วแน่ ไม่ไหวติงต่อสภาพราคาที่ผันผวนในตลาด และทำตามแผนการลงทุนที่วางเอาไว้จนกระทั่งแผนนั้นสำเร็จลุล่วง

คุณศึกษาจนรู้ดีว่าควรเลือกลงทุนเหรียญ cryptocurrency ตัวไหนในตลาดได้ด้วยตัวคุณเอง ไม่แห่กันไปซื้อตามชาวบ้านจนทำให้ตัวเองกลายเป็นแมลงเม่า

ปัจจุบันเหรียญ cryptocurrency นั้นมีมากมายกว่า 1,000 เหรียญในตลาด นับตั้งแต่ต้นกำเนิดของ Bitcoin ที่ source code ของมันเป็นแบบ open source นั้น ทำให้ใคร ๆ ก็สามารถสร้างเหรียญของตัวเองขึ้นมาได้

แต่สิ่งหนึ่งที่สร้างความแตกต่างให้เหรียญตัวนั้น ๆ มีความ “เจ๋ง” กว่าเหรียญตัวอื่น ๆ นั้นหาใช่ราคาของมันไม่ แต่เป็นเทคโนโลยีที่มันถูกใช้อยู่นั่นเอง คุณหนึ่ง ปรมินทร์ ผู้สร้างเหรียญ ZCoin เคยกล่าวเอาไว้ว่า

“ในปัจจุบันมี Service มากมายที่เราสามารถที่จะจ่ายเพียง 0.2 BTC ก็สามารถที่จะมีเหรียญของตัวเองได้แล้ว แต่พอทำออกมาทำไมมันถึงไม่เกิด เพราะว่ามันไม่ได้มีอะไรใหม่ มันไม่ได้มีอะไรให้แก่นักลงทุน มันมีอะไรที่แตกต่าง ถ้าเราตอบไม่ได้ ก็ไม่ควรที่จะทำเหรีญขึ้นมาเอง แต่ถ้าเรามีเทคโนโลยีอะไรที่แตกต่างจากคนอื่น อันนี้ผมแนะนำว่าให้ทำ เพราะว่ามันมีคนซื้อแน่นอน เพราะว่าถ้าเราทำอะไรที่เหมือนกับชาวบ้านในโลกคริปโต คนค่อนข้างที่จะ Buy ยาก นอกจากจะมีทีมที่เหมือนกับว่า ค่อนข้างที่จะ Well know อย่างเช่นคนที่คิดค้น Ethereum ขึ้นมาอยู่ๆก็ก็อปปี้เหรียญของตัวเองออกมาทำเป็น Ethereum 2 อาจจะมีคนซื้ออยู่เพราะซื้อด้วยชื่อเสียงของเค้า แต่ถ้าคนปกติที่ไม่ได้มีชื่อเสียงแล้วแค่ก็อปปี้โค้ดแล้วมาสร้างใหม่โอกาสที่จะรอดยากมาก ไม่ใช่ว่าทำไม่ได้แต่มันไม่น่าที่จะ Success”

เมื่อนั้น คุณก็คงเริ่มที่จะรู้แล้วว่าควรจะลงทุนหรือไม่ และควรลงทุน cryptocurrency ตัวไหน

Originally published at siamblockchain.com on March 11, 2018.

ที่มา:

Medium

ผู้เขียน: bitkub.com | 26 มี.ค. 61 | อ่าน: 3,692
บทความล่าสุด