บทความ
Bank Run คืออะไร? รู้จักวิกฤตที่ผู้คนแห่ถอนเงินออกจากธนาคาร
เชื่อว่าผู้อ่านหลายคนน่าจะเห็นข่าวใหญ่ที่เกี่ยวกับการล่มสลายของธนาคาร Silicon Valley Bank ซึ่งเป็นธนาคารใหญ่ในสหรัฐอเมริกาและมีส่วนสำคัญกับวงการเทคโนโลยีของสหรัฐฯ สิ่งที่เกิดชึ้นคือการที่ผู้คนแห่ถอนเงินออกจากธนาคารจนเกิดเป็นวิกฤตที่เรียกว่า Bank Run
ในบทความนี้ Bitkub Blog จะมาเล่าให้ฟังว่า Bank Run คืออะไร เกิดอะไรขึ้นกับ Silicon Valley Bank และมีผลอย่างไรกับตลาดคริปโทเคอร์เรนซี
Bank Run หรือการแห่ถอนเงินออกจากธนาคารเนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับความสามารถในการชำระหนี้ของธนาคาร ไม่ว่าจะด้วยข่าวสารหรือผลประกอบการของธนาคารก็ตาม หากการแห่ถอนเงินนั้นเกิดขึ้นเร็วและรุนแรง ธนาคารก็อาจไม่สามารถนำเงินสดมาคืนลูกค้าได้ทั้งหมด จนกลายเป็นวิกฤตทางการเงินที่จะขยายตัวไปสู่ธนาคารหรือสถาบันการเงินรายอื่น ๆ ได้อีก
Bank Run ครั้งใหญ่ที่สุดในประวิตศาสตร์ เกิดขึ้นในช่วงปี 1930 หรือสมัย The Great Depression ที่เศรษฐกิจตกต่ำ ธนาคารหลายแห่งทั่วโลกได้ประสบเหตุ Bank Run เนื่องจากหลายธนาคารได้นำเงินฝากของลูกค้าไปลงทุนในตลาดหุ้นที่กำลังบูมในตอนนั้น แต่ต่อมาก็เกิดเหตุตลาดหุ้นพังในปี 1929 ทำให้ธนาคารมีเงินสดไม่เพียงพอที่จะนำมาจ่ายคืนลูกค้าที่ต้องการถอนเงินจำนวนมากได้ จนกลายเป็นเหตุ Bank Run ครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์
แม้เราอาจไม่ได้เห็น Bank Run บ่อยนักนับตั้งแต่สมัย The Great Depression แต่เหตุ Bank Run ก็ได้กลับมาอีกครั้งเมื่อช่วงต้นปี 2023 นี้ โดยเกิดขึ้นกับธนาคาร Silicon Valley Bank (SVB) ที่กลายเป็นข่าวใหญ่สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วโลก
ทำไม Bank Run จึงเกิดขึ้นกับ SVB
Silicon Valley Bank (SVB) เป็นธนาคารใหญ่ระดับต้น ๆ ในสหรัฐอเมริกา ถือสินทรัพย์มูลค่ารวมมากกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์ จึงเป็นเหตุ Bank Run ที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ในประวัติศาสตร์ รองจาก Washington Mutual bank ที่เกิด Bank Run ในปี 2008
SVB เน้นให้บริการด้านการเงินกับบริษัทและสตาร์ทอัพที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยี เช่น Roblox เกมออนไลน์ชื่อดัง, Roku เแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง, หรือแม้แต่ Circle บริษัทผู้ออกเหรียญ Stablecoin อย่าง USDC เป็นต้น ทำให้บริการของ SVB เป็นที่ต้องการอย่างมากโดยเฉพาะในช่วง COVID-19 เพราะเป็นช่วงที่ผู้คนจำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยีและบริการดิจิทัลกัน
บริษัทเทคโนโลยีหลายแห่งใช้บริการของ SVB เพื่อเก็บเงินสดเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายทางธุรกิจ ทำให้มีกระแสเงินฝากเข้ามาใน SVB เป็นจำนวนมหาศาล ซึ่งทาง SVB ก็นำเงินฝากส่วนหนึ่งไปลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่น ๆ เหมือนกับการดำเนินงานของธนาคารทั่ว ๆ ไป
แต่ปัญหาเกิดขึ้นเพราะว่า SVB นำเงินไปลงทุนกับพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งตั้งแต่ปี 2022 เป็นต้นมาธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Federal Reserve ได้ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อคุมเงินเฟ้ออย่างต่อเนื่อง ทำให้พอร์ตของ SVB สูญเสียมูลค่าลงอย่างรวดเร็ว นั่นเป็นเพราะพันธบัตรมีความสัมพันธ์แบบสวนทางกับอัตราดอกเบี้ย เมื่ออัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ราคาพันธบัตรมักจะลดลง ธนาคารจึงเริ่มสูญเสียสภาพคล่อง
ลูกค้าของธนาคารเริ่มเห็นท่าไม่ดีจึงเริ่มพากันถอนเงินฝากออกมาเก็บไว้เอง และเกิดเป็นกระแสในสื่อโซเชียลทำให้การแห่ถอนเงินเกิดขึ้นเร็วและหนักมากกว่าครั้งไหน ๆ SVB ที่มีเงินสดไม่เพียงพอจึงขายพันธบัตรบางส่วนโดยยอมขาดทุนหนัก แต่กลับกลายเป็นว่ายิ่งสร้างความหวาดกลัวให้กับลูกค้าจนกระแสแห่ถอนเงินหนักกว่าเดิมจนเกิดการ Bank Run จากนั้นรัฐบาลสหรัฐฯ จึงสั่ง SVB ให้หยุดกิจการ เพื่อป้องกันไม่ให้ผลกระทบขยายวงกว้างไปมากกว่านี้
Bank Run ส่งผลอย่างไรกับตลาดคริปโต
อย่างที่เกริ่นไปก่อนหน้านี้ว่าบริษัท Circle ผู้ออกเหรียญ USDC ก็เป็นหนึ่งในลูกค้าของ SVB ทำให้ในระยะสั้นเกิดผลกระทบกับเหรียญ USDC และเหรียญในกลุ่ม Stablecoin
โดย Circle ได้ฝากเงินสำรองที่ใช้ตรึงมูลค่าของ USDC ไว้กับ SVB เป็นมูลค่า 3.3 พันล้านดอลลาร์ ทำให้ผู้ถือเหรียญ USDC เกิดความกังวลใจเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นและพากันขายเหรียญ USDC เป็นจำนวนมาก ทำให้มูลค่าของเหรียญลดลงต่ำกว่า 1 ดอลลาร์
อย่างไรก็ตาม Jeremy Allaire ผู้ร่วมก่อตั้งและ CEO ของ Circle ได้ออกมากล่าวดึงความเชื่อมั่นกลับมา โดยระบุว่า SVB เป็นเพียงหนึ่งในธนาคารที่ Circle เลือกใช้เพื่อฝากสินทรัพย์เท่านั้น ประกอบกับการที่กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ออกมายืนยันว่าผู้ที่ฝากเงินไว้กับ SVB จะสามารถถอนเงินของตัวเองได้เต็มจำนวน จึงทำให้ USDC สามารถฟื้นตัวกลับขึ้นแถว 1 ดอลลาร์ได้
สรุป
Bank Run คือการที่ลูกค้าแห่ถอนเงินออกจากธนาคาร เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจหรือความสามารถในการชำระหนี้ของธนาคาร แต่ธนาคารไม่สามารถนำเงินสดมาคืนลูกค้าได้ทั้งหมด หากหน่วยงานที่เกี่ยวกับไม่สามารถเข้ามาควบคุมสถานการณ์ได้ทัน Bank Run ก็อาจกลายเป็นโดมิโนจนธนาคารอื่น ๆ ประสบเหตุ Bank Run ตามกันมาได้
อ้างอิง Investopedia, CNBC, Axios, CBS News
_________________________________________
ติดตามบทความที่น่าสนใจได้ที่นี่:
Stablecoin คืออะไรและมีทั้งหมดกี่ประเภท?
เงินเฟ้อคืออะไร เตรียมรับมืออย่างไรดี?
การประชุม FED คืออะไร ส่งผลกับตลาดคริปโทเคอร์เรนซีอย่างไร?
___________________________________
คำเตือน:
*คริปโทเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัลมีความเสี่ยงสูง ท่านอาจสูญเสียเงินลงทุนได้ทั้งจํานวน โปรดศึกษาและลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้
**สินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยง โปรดศึกษาและลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้
***ผลตอบแทนของสินทรัพย์ดิจิทัลในอดีตหรือผลการดําเนินงานในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลตอบแทน ของสินทรัพย์ดิจิทัลหรือผลการดําเนินงานในอนาคต
ที่มา:
Medium