บทความ
ใครว่า Bitcoin ไม่มีมูลค่าที่แท้จริง?
เมื่อพูดถึง Bitcoin หลายคนอาจจะมองว่าไม่สามารถจับต้องได้ ไม่มีสินทรัพย์ค้ำประกัน แล้วมันจะมีมูลค่าได้อย่างไร?
อย่างที่รู้กันว่า Bitcoin เป็นเพียงสกุลเงินดิจิทัลที่มีเทคโนโลยีบล็อคเชนในการจัดการธุรกรรม แบบไม่จำเป็นต้องพึ่งพาตัวกลาง ถึงแม้ Bitcoin จะมีจำนวนจำกัดไม่สามารถถูกผลิตเพิ่มได้ แต่มันก็เป็นเพียงสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นในโลกอินเทอร์เน็ตไม่ใช่หรือ?
แต่รู้หรือไม่ ความจริงนั้น Bitcoin มีต้นทุนในการผลิตมาจากพลังงานไฟฟ้าในการทำงานของหน่วยประมวลผลของคอมพิวเตอร์ ทำหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องของธุรกรรมและ สร้างความปลอดภัยให้ระบบ
อุปกรณ์อิเล็กทรอนิคที่ใช้ประมวลผล เราเรียกว่า เครื่องขุด โดยใช้พลังประมวลผลไปกับการแก้ไขสมการทางคณิตศาสตร์ เพื่อยืนยันธุรกรรมและสร้างบล็อกใหม่ในบล็อกเชน ผู้ที่สามารถแก้ไขสมการได้ก่อนจะได้รับรางวัลตอบแทนเป็นเหรียญที่ยังไม่ออกมาในระบบ
จะเห็นได้ว่า พลังงานไฟฟ้า เป็นหัวใจสำคัญในการมีอยู่ของเหรียญ หากไฟฟ้ามีราคาถูกก็จะส่งผลให้การขุดนั้นคุ้มค่ายิ่งขึ้น
เพราะฉะนั้น เราอาจอนุมานได้ว่าการผลิต Bitcoin มีต้นทุนเป็นพลังงานไฟฟ้าและอุปกรณ์ที่ใช้ในการขุด
แล้ว Bitcoin ใช้งานพลังงานไฟฟ้ามากน้อยแค่ไหน?
สำหรับผู้ที่สนใจเริ่มขุด Bitcoin แต่ยังไม่แน่ใจว่าจะคำนวณค่าไฟ “คร่าว ๆ” ได้อย่างไร เรามาลองดูคำนวณไปด้วยกัน
สมมติว่าคุณจะใช้การ์ดจอ GEFORCE RTX 2080 ที่กินกำลังไฟ 225 watts ต่อชั่วโมงมาขุด โดยที่คุณจะเปิดให้มันขุดทั้งวันทั้งคืนตลอด 24 ชั่วโมงเป็นเวลา 1 เดือน ก็ต้องนำ 225 watts มาคูณกับ 24 ชั่วโมง ก็จะได้เป็น 5,400 watts หรือเท่ากับ 5.4 kilowatts จากนั้นนำ 5.4 kilowatts มาคูณ 30 วัน ก็จะได้ 162 kilowatts ต่อเดือน
ทั้งนี้ การไฟฟ้าไทยจะคำนวณค่าไฟในหน่วยยูนิต โดย 1 ยูนิตจะเท่ากับ 1 kilowatts ดังนั้น 162 kilowatts จะเท่ากับ 162 ยูนิต เมื่อหายูนิตได้ก็สามารถคำนวณค่าไฟคร่าว ๆ ได้ โดยค่าไฟในประเทศไทยจะมีค่อนข้างหลายอัตราอด้วยกัน หากใช้ไฟน้อยก็จะได้อัตราที่ถูก หากใช้ไฟมากก็จะได้ค่าไฟในอัตราที่แพงกว่า
ดังนั้นเราจะลองคำนวณโดยใช้เรทที่แพงที่สุด คือ 4.4217 บาท ต่อ 1 ยูนิต ถ้า GEFORCE RTX 2080 กินไฟ 162 ยูนิตต่อเดือน เราจะต้องจ่ายค่าไฟ 716.31 บาทต่อเดือน โดยประมาณ
เราสามารถสรุปสูตรคำนวณสำหรับ GEFORCE RTX 2080 ได้ดังนี้
GEFORCE RTX 2080 กินไฟ 225 watts
225 watts (0.2 ยูนิต)
225 watts x 24 ช.ม. = 5,400 watts ต่อวัน
5,400 / 1,000 = 5.4 kilowatts ต่อวัน หรือ 5.4 ยูนิตต่อวัน
5.4 kilowatts x 30 วัน = 162 kilowatts ต่อเดือน (162 ยูนิตต่อเดือน)
162 ยูนิตต่อเดือน x เรทค่าไฟ 4.4217 บาท
= 716.31 บาทต่อเดือน
ต่อไปเราลองมาดูเครื่องขุดโดยเฉพาะอย่าง Bitmain Antminer S9 ที่กินไฟ 1,323 watts สามารถสรุปสูตรคำนวณได้ดังนี้
Bitmain Antminer S9 กินไฟ 1,323 watts
1,323 watts (1.3 ยูนิต)
1,323 watts x 24 ช.ม. = 31,752 watts ต่อวัน
31,752 / 1,000 = 31.752 kilowatts ต่อวัน หรือ 31.752 ยูนิตต่อวัน
31.752 kilowatts x 30 วัน = 952.56 kilowatts ต่อเดือน (952.56 ยูนิตต่อเดือน)
952.56 ยูนิตต่อเดือน x เรทค่าไฟ 4.4217 บาท
= 4,211.93 บาทต่อเดือน
การขุดไม่สามารถการันตีได้ว่าเราจะสามารถขุดเหรียญได้มากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับกำลังการขุดและโชค ว่าจะสามารถสุ่มหาจิ๊กซอว์ชิ้นสุดท้าย สำหรับการสร้างบล็อกได้หรือไม่ การเข้าร่วม Pool mining ซึ่งเป็นการรวมตัวของนักขุด ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับนักขุดที่มีกำลังการขุดน้อย
อ้างอิง: อัตราค่าไฟการไฟฟ้านครหลวง , สเปค GEFORCE RTX 2080, สเปค Bitmain Antminer S9 ( ข้อมูลอัพเดตเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2021)
คราวนี้ เราลองคิดเล่น ๆ เครือข่าย Bitcoin ทั้งเครือข่าย ใช้ไฟฟ้าเฉลี่ย 130 terawatt ต่อ 1 ชั่วโมง ซึ่ง 130 terawatt คิดเป็น 130,000,000,000 kilowatt ถ้าใช้อัตราค่าไฟของประเทศไทยที่ 4.4217 บาท ต่อ 1 ยูนิต หมายความว่าค่าไฟฟ้าในการขุด Bitcoin ของทั้งเครือข่ายเพียง 1 ชั่วโมงเท่ากับ 574,821,000,000 บาท!
อ้างอิง: BBC ( ข้อมูลอัพเดตเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2021)
หมายเหตุ: สูตรคำนวณข้างต้นเป็นการคำนวณโดยใช้อัตราการกินไฟของอุปกรณ์แต่ละตัวเท่านั้น ไม่ได้นำปัจจัยอื่น ๆ เช่น ระบบระบายความร้อน สถานที่ สภาพภูมิอากาศ หรือโอกาสขุดสำเร็จ เข้ามาคำนวณด้วย จึงมีความเป็นไปได้สูงที่ต้นทุนการขุดที่แท้จริงจะสูงกว่าที่คำนวณมาข้างต้น
ทำไมต้นทุน 1 BTC ถึงแพงกว่าราคาตลาด?
จากที่เรากล่าวไปดังข้างต้น ต้นทุนค่าไฟของแต่ละประเทศมีไม่เท่ากัน ในประเทศที่ค่าไฟถูก นักขุดจะมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำและคุ้มค่าแก่การขุดมากกว่า จึงเป็นเรื่องยากสำหรับนักขุดรายย่อยในประเทศไทยที่จะทำการขุด Bitcoin และได้รับกำไรคุ้มค่ากับต้นทุนการผลิต
นอกเหนือจากปัจจัยด้านต้นทุนของพลังงานไฟฟ้าแล้วยังมีอีกปัจจัยที่สำคัญมากๆสำหรับ Bitcoin ก็คือ Network effect แต่จะคืออะไรนั้น ต้องติดตามกันต่อในบทความในอนาคต
ที่มา:
Medium