บทความ

Indicator ดูเป็น ไม่เสี่ยงดอย

image

ในโลกของการเทรด ไม่มีใครที่สามารถรู้ล่วงหน้าได้ว่าราคาจะเคลื่อนไหวไปในทิศทางใด แต่ไม่ใช่ว่าเราจะไม่สามารถคาดเดาทิศทางได้เลยเสียทีเดียว นอกจากการติดตามข่าวสารเพื่อประเมินทิศทางของราคาแล้ว Indicator คืออีกหนึ่งเครื่องมือที่จะมาช่วยบอกความเป็นไปได้ของทิศทางราคาที่นักเทรดทั้งมือใหม่และมือฉมังต้องมีติดหน้าจอเอาไว้!

Indicator คืออะไร?

Indicator แปลตรงตัวได้ว่า ตัวบ่งชี้ ซึ่งหน้าที่ของมันก็ตามชื่อเลย คือเป็นตัวบ่งชี้ความเป็นไปได้ของทิศทางราคา การใช้ Indicator เพื่อประเมินทิศทางราคาจะเรียกว่าการวิเคราะห์จากปัจจัยทางเทคนิค (Technical Analysis) ขณะที่การวิเคราะห์ทิศทางราคาจากข่าวสารจะเรียกว่าการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน (Fundamental Analysis)

Indicator แต่ละตัวจะมีสูตรในการคิดคำนวณที่แตกต่างกันออกไป เช่น บางตัวอาจคำนวณจากราคาต่ำ-สูง บางตัวคำนวณจากปริมาณการซื้อขาย หรือบางตัวก็ใช้มากกว่า 2 ปัจจัยผสมผสานกัน ซึ่งแอปพลิเคชั่นสำหรับการเทรด ไม่ว่าจะเป็น MetaTrader, TradingView, หรือ Bitkub ต่างก็มี Indicators แถมฟรีมาให้อย่างเพียบพร้อม

วิธีเพิ่ม Indicator บนแอป Bitkub

สำหรับ Smart Phone

เมื่อล็อคอินเข้าแอปพลิเคชั่นแล้ว ให้ไปที่หน้าต่าง “Market” > เลือกเหรียญที่ต้องการ > เลือกเครื่องหมาย “กราฟ” มุมบนขวา > สังเกตุแถบเมนูด้านบนกราฟ ให้ปัดไปทางขวาเล็กน้อยและเลือกปุ่ม Indicator > เลือก Indicator ตัวที่ต้องการเพิ่มเข้าไป

image

สำหรับ PC

เมื่อล็อคอินเข้าแอปพลิเคชั่นแล้ว ให้ไปที่หน้าต่าง “ราคาตลาด” > เลือกเหรียญที่ต้องการ > เลือกเครื่องหมาย Indicators > และเลือก Indicator ตัวที่ต้องการเพิ่มเข้าไป

image

เรายังสามารถบันทึก Indicators ที่เราเลือกใช้เป็น Template สำหรับการใช้งานครั้งต่อๆไปได้เช่นกัน โดยไปที่ Indicator templates (ข้างๆไอคอน Indicators)> เลือก Save Indicator template > ตั้งชื่อตามที่ต้องการและคลิกปุ่ม Save

สำหรับการเลือกใช้งานในครั้งต่อไปก็สามารถเลือก Indicator templates และเลือก Template ตามที่บันทึกเอาไว้ได้เลย ฟังก์ชั่นนี้สามารถใช้ได้ทั้งบน PC และ Smartphone

Indicators พื้นฐานที่ต้องรู้!

จะเห็นได้ว่าบนแอป Bitkub ของเรา มี Indicators ให้เลือกกันเยอะแยะจนตาลายกันเลยทีเดียว แล้วทีนี้เราจะเลือกตัวไหนดีล่ะ!? ในบทความนี้เราจะแนะนำ Indicators พื้นฐานที่เป็นที่ยอมรับกันในวงการ ดังต่อไปนี้

Moving Average (MA)

image

Moving Average หรือเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนไหว นับว่าเป็น Indicators พื้นฐานที่เหล่านักเทรดและนักวิเคราะห์ใช้เป็นขั้นตอนแรกๆของการวิเคราะห์ กรอบเวลาย้อนหลังของ MA สามารถถูกกำหนดได้ตามที่ต้องการเพื่อวิเคราะห์ทิศทางได้ทั้งระยะสั้นและระยะยาว

วิธีดูเทรนราคาจาก MA นอกจากการดูการเคลื่อนไหวของ MA เพียงเส้นเดียวแล้ว ยังสามารถดูได้จากการเคลื่อนไหวของ MA มากกว่า 2 เส้นขึ้นไป โดยสมมติว่ามีเส้น MA 50 วัน (ระยะสั้น) กับ MA 100 วัน (ระยะยาว) หาก MA ระยะสั้นเคลื่อนไหวตัดกับ MA ระยะยาว โดยที่ระยะสั้นอยู่สูงกว่าระยะยาวจะเป็นสัญญาณขาขึ้นหรือเรียกว่า Bullish Crossover ในทางกลับกัน หากเส้นระยะสั้นตัดกับระยะยาวโดยระยะสั้นอยู่ต่ำกว่าระยะยาวจะสะท้อนถึงทิศทางขาลงหรือ Bearish Crossover

นอกจากนี้ MA ก็มีประเภทแยกย่อยลงไปอีกมากมาย ตัวที่นิยมใช้กันจะมี Simple Moving Average (SMA) กับ Exponential Moving Average (EMA) แต่ละตัวจะมีสูตรในการคำนวณที่แตกต่างกันออกไปเล็กน้อย โดย EMA จะมีความอ่อนไหวต่อการเคลื่อนไหวของราคาปัจจุบันมากกว่า SMA ทำให้นักวิเคราะห์นิยมใช้ EMA ในการวิเคราะห์ทิศทางระยะสั้น ขณะที่ SMA มักจะใช้ในการวิเคราะห์ทิศทางระยะยาว เป็นต้น

2. Relative strength index (RSI)

image

RSI คือ Indicators ประเภท Momentum Oscillator หรือตัวชี้วัดการแกว่งตัวของราคา การวิเคราะห์จาก RSI หลักๆจะอยู่ที่การดูว่าราคากำลังอยู่ในภาวะใด ระหว่าง Overbought (ซื้อมากเกิน) หรือ Oversold (ขายมากเกิน) หากเส้น RSI กำลังเคลื่อนไหวต่ำกว่าระดับ 30 จุดเป็นการสะท้อนว่าตลาดกำลังอยู่ภาวะ Oversold ในทางกลับกัน หาก RSI อยู่สูงกว่า 70 จุดก็จะเป็นภาวะ Overbought ทั้งนี้ นักวิเคราะห์บางคนอาจไม่ใช้ระดับ 70 กับ 30 เป็นตัวชี้วัด ซึ่ง RSI ก็สามารถปรับแต่งได้ตามความเหมาะสมเช่นเดียวกัน

ภาวะ Overbought หรือ Oversold เป็นสัญญาณเตือนว่าราคาอาจเกิดการปรับฐานจากภาวะดังกล่าวในอีกไม่นาน เช่น หากราคาปรับตัวสูงขึ้นและ RSI เป็นภาวะ Overbought ราคาก็อาจมีโอกาสที่จะย่อตัวลงมาเพื่อปรับฐาน เป็นต้น ดังนั้นกลยุทธ์ที่นิยมใช้กันเมื่อพิจารณาจาก RSI คือ หากเป็น Overbought ให้ขาย และหากเป็น Oversold ให้ซื้อ

อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก RSI เป็นดัชนีที่เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 0 ถึง 100 จึงเหมาะสมที่จะใช้วิเคราะห์ทิศทางราคาที่แกว่งตัวอยู่ในกรอบแบบ Sideways มากกว่า แต่สำหรับราคาที่เคลื่อนไหวแบบมีเทรนชัดเจนควรใช้ RSI ควบคู่กับ Indicators ตัวอื่นๆที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้

3. Moving average convergence divergence (MACD)

image

MACD คือ Indicators ที่เปรียบเทียบการเคลื่อนไหวระหว่างเส้นค่าเฉลี่ยแบบ EMA 2 เส้น ทำให้สามารถวิเคราะห์ได้ทั้งเทรนของราคาและแรงแกว่งตัวของราคา โดย MACD จะมีส่วนประกอบ 3 อย่าง ได้แก่

1. MACD Line (เส้นสีน้ำเงิน) = เป็นเส้นที่เฉลี่ยระหว่าง EMA 12 กับ 26 วัน ใช้เพื่อเทียบความห่างของเส้นค่าเฉลี่ยทั้ง 2 เส้น

2. Signal Line (เส้นสีแดง) = เส้นค่าเฉลี่ย EMA 9 วัน ใช้เพื่อวัดแนวโน้มของราคา และเพื่อดูสัญญาณเข้าซื้อหรือขาย

3. Histogram (แท่งสีเทา) = ใช้เปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างเส้นค่าเฉลี่ยทั้ง 2 เส้น (MACD line กับ Signal Line)

สำหรับวิธีการวิเคราะห์ MACD ขั้นพื้นฐานสามารถดูได้จากเส้น MACD (เส้นสีน้ำเงิน) เป็นหลัก หากเส้นน้ำเงินเคลื่อนไหวตัดลงต่ำกว่าเส้น Signal Line (สีแดง) จะเป็นสัญญาณสะท้อนภาวะขาลง จึงควรที่จะเทขาย ในทางกลับกัน หากเส้นน้ำเงินตัดขึ้นเหนือเส้นแดง จะเป็นสัญญาณขาขึ้นและควรเข้าซื้อ

ในส่วนของ Histogram หรือแท่งสีเทา ก็คือระยะห่างระหว่าง MACD และ Signal Line สามารถใช้วิเคราะห์ความแกว่งตัวของราคาได้ โดยยิ่ง Histogram ยาวไปไหนทิศทางไหนมากเท่าไหร่ หมายความว่าราคามีแรงแกว่งตัวในทิศทางนั้นมากเท่านั้น และหาก Histogram แกว่งตัวใกล้ระดับ 0 จุดจะเป็นสัญญาณเตือนว่าทิศทางอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงในไม่ช้านั่นเอง

4. Ichimoku Cloud

image

Ichimoku Cloud หรือนิยมเรียกกันสั้นๆว่า Ichimoku โดยในภาษาญี่ปุ่น Ichimoku แปลว่า One Glance หรือมองเพียงแวบเดียวก็เข้าใจ ดังนั้น จุดเด่นของมันก็คือเป็น Indicator ที่แค่มองก็เข้าใจทิศทางราคาได้เลย

สัญญาณของ Ichimoku ที่เห็นได้ในทันทีบนกราฟก็คือบริเวณสีทึบที่เหมือนกับก้อนเมฆ (Cloud) นั่นเอง ก้อนเมฆนี้ก็คือตัวบ่งชี้ทิศทางราคา หากราคาเคลื่อนไหวต่ำกว่าก้อนเมฆจะบ่งชี้ทิศทางขาลง หากราคาอยู่เหนือก้อนเมฆจะบ่งชี้ทิศทางขาขึ้น และหากราคาอยู่ระหว่างก้อนเมฆจะสะท้อนว่าราคากำลังเคลื่อนไหวแบบไร้ทิศทาง (Sideways) หรือกำลังจะเปลี่ยนทิศทาง นอกจากนี้ ก้อนเมฆในส่วนที่ราคายังไปไม่ถึงยังสามารถบ่งชี้ถึงระดับราคาที่มีแนวโน้มจะกลายเป็นแนวรับ-แนวต้านสำคัญของราคาในอนาคตได้อีกด้วย

ในกรณีที่ราคากำลังเคลื่อนไหวแบบมีเทรนและกลุ่มเมฆก็เคลื่อนไหวไปในเทรนเดียวกับราคา จะเป็นการสะท้อนถึงความแข็งแกร่งของทิศทางนั้นๆ แต่ในรูปตัวอย่างจะเห็นว่าแม้ราคาจะอยู่ต่ำกว่าเมฆ (เป็นทิศทางขาลง) แต่ตัวเมฆก็ไม่ได้เคลื่อนไหวในทิศทางขาลงตาม จึงวิเคราะห์ได้ว่าทิศทางขาลงอาจไม่แข็งแกร่งเท่าไหร่

สรุป

Indicator คือเครื่องมือสำหรับการวิเคราะห์ทิศทางของราคาในเชิงเทคนิค มีให้เลือกใช้หลากหลายตามสถานการณ์หรือความถนัด การใช้ Indicator ควรพิจารณาใช้ Indicator ร่วมกัน 2 ตัวขึ้นไป เพื่อป้องกันสัญญาณหลอก (False signal) แต่ก็ไม่ควรใช้ Indicator หลายตัวเกินไปเช่นกัน การใช้ Indicator ให้มีประสิทธิภาพสูงสุดคือการศึกษาทำความเข้าใจจุดแข็ง-จุดอ่อนของ Indicator แต่ละตัว หมั่นฝึกฝน จดบันทึก และเปรียบเทียบผลลัพธ์

นักเทรดที่ดีคือผู้ที่สามารถวิเคราะห์ในเชิงเทคนิคได้ แต่นักเทรดที่ยอดเยี่ยมสามารถวิเคราะห์เชิงเทคนิคควบคู่ไปกับการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานได้

ที่ Bitkub นอกจากเราจะเป็นผู้ให้บริการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยแล้ว เรายังมีการจัดคอร์สเรียนต่างๆทุกเดือน ซึ่งมีตั้งแต่การปูพื้นฐานทำความเข้าใจในเทคโนโลยีบล็อกเชนกับเหรียญดิจิทัล ไปจนถึงเทคนิคการเทรดให้ประสบความสำเร็จโดยจากนักเทรดมือโปร สามารถติดตามข่าวสารคอร์สเรียนดีๆได้ที่ Facebook Bitkub Academy : @BitkubAcademy

ที่มา:

Medium

ผู้เขียน: Waranyu Suknantee | 16 ธ.ค. 64 | อ่าน: 83,506
บทความล่าสุด