บทความ
ประวัติศาสตร์และวิวัฒนาการของ Blockchain
เทคโนโลยีเบื้องหลัง Bitcoin อย่าง Blockchain กำลังถูกนำมาประยุกษ์ใช้กับหลายๆอุตสาหกรรม ไม่ใช่แค่เรื่องของการเงินเท่านั้น สำหรับบทความนี้เราจะมาเรียนรู้ประวัติศาสตร์และวิวัฒนาการของบล็อกเชนไปพร้อมๆกัน
ก่อนจะมาเป็น Bitcoin
คอนเซ็ปท์ของ Blockchain เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 1991 โดยนักวิทยาศาสตร์นามว่า Stuart Haber และ W. Scott Stornetta ได้เสนอให้ใช้วิธีบันทึกเวลา (Time-Stamps) ลงบนเอกสารดิจิทัล เพื่อให้เอกสารดังกล่าวไม่สามารถถูกเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขได้
จากนั้นในปี 1992 ได้มีการนำเสนอระบบ Merkle trees หรือ Hash tree เพื่อให้สามารถเก็บข้อมูลหรือเอกสารหลายๆชุดเข้าด้วยกันเป็นบล็อกได้ แต่ระบบนี้ไม่เป็นนิยมเท่าไหร่นักจึงไม่ค่อยมีการใช้งานจริง
จนกระทั้งในปี 2004 นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์และผู้เชี่ยวชาญด้านศาสตร์การเข้ารหัสนามว่า Hal Finney ได้คิดค้นระบบที่เรียกว่า Reusable Proof Of Work ซึ่งต่อมาได้กลายมาเป็นระบบต้นแบบ (Prototype) ให้กับระบบ Proof Of Work ของ Bitcoin
Blockchain รุ่นที่ 1: กำเนิด Bitcoin
ในปี 2008 Satoshi Nakamoto ที่เป็นนามแฝงของบุคคลหรือองค์กรได้เปิดเผย White Paper ของ Bitcoin ที่ใช้เทคโนโลยี Blockchain ในการบันทึกธุรกรรม เกิดเป็นสกุลเงินดิจิทัลแบบกระจายศูนย์ตัวแรกของโลก โดย Blockchain รุ่นแรกนี้ถูกออกแบบมาเพื่อใช้สำหรับการบันทึกธุรกรรมโดยเฉพาะ และธุรกรรมแรกของ Bitcoin คือ Satoshi Nakamoto ส่ง Bitcoin จำนวน 10 เหรียญ ให้กับ Hal Finney
Blockchain รุ่นที่ 2: กำเนิด Smart Contract
Blockchain รุ่นที่ 2 ก็คือ Ethereum ที่ใช้ Smart Contract โดยคอนเซ็ปท์ของ Smart Contract คือข้อตกลงที่สามารถดำเนินการได้ด้วยตัวเองเมื่อเงื่อนไขครบตามที่ตกลงเอาไว้ได้อย่างอัตโนมัติ ทำให้สามารถตัดคนกลางทำหน้าที่ตรวจสอบเอกสารออกไปได้ และยังมีความปลอดภัยสูงเนื่องจากอยู่บน Blockchain
การมาของ Ethereum และ Smart Contract ทำให้เหล่าผู้พัฒนาสามารถสร้าง Application บน Blockchain ได้ จึงเกิดเป็น Decentralized Application (dApp) ต่างๆที่มีตั้งแต่ โซเชียลมีเดีย, กระดานซื้อขาย, บริการกู้ยืม, รวมไปถึง เกม
Blockchain รุ่นที่ 3: แก้ปัญหา Scalability
จุดอ่อนสำคัญของทั้ง Bitcoin และ Ethereum คือปัญหาในด้าน Scalability หรือความสามารถในการรองรับจำนวนธุรกรรมที่สูงขึ้น ทำให้เกิดปัญหาอย่าง ความล่าช้าในการทำธุรกรรม หรือปัญหาคอขวด (Bottlenecking)
เพื่อที่จะแก้ไขปัญหานี้ Blockchain รุ่นที่ 3 อย่าง Cardano, EOS, และ IOTA เป็นต้น จึงมีการใช้เทคโนโลยีที่แตกต่างกันออกไป เช่น Sharding, Sidechain, Lightning Network รวมไปถึงการเปลี่ยนระบบจาก Proof Of Work ไปเป็น Proof Of Stake และเทคโนโลยีอื่นๆอีกมากมาย ซึ่งก็ได้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกันออกไป
Blockchain รุ่นที่ 4: AI หรือ Mass Adoption?
ณ ปัจจุบัน ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่า Blockchain รุ่นที่ 4 จะพัฒนาไปในทิศทางใด เนื่องจาก Blockchain รุ่นที่ 3 เองก็ยังไม่ค่อยลงตัวดีนัก บ้างก็ว่ารุ่นที่ 4 จะเป็นการประสาน Blockchain เข้ากับเทคโนโลยี AI บ้างก็ว่ารุ่นที่ 4 จะมาแก้ไขปัญหา Mass Adoption ที่จะทำให้ Blockchain สามารถเข้าถึงคนทั่วไป สถานศึกษา หรือธุรกิจขนาดเล็ก ได้ง่ายยิ่งขึ้น
สำหรับ Blockchain ที่ระบุตัวเองว่าเป็นรุ่นที่ 4 ก็เริ่มมีออกมาให้เห็นกันบ้างแล้ว เช่น Multiversum, SOOM, Aergo, และ Insolar ที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยมีเป้าหมายหลักคือ Mass Adoption
ในส่วนของการประสาน AI เข้ากับ Blockchain ปัจจุบันก็มีโปรเจ็คที่พยายามประสานเทคโนโลยีทั้ง 2 นี้เข้าด้วยกัน ซึ่งได้แก่ Gainfy, Blackbird.AI และ Neureal เป็นต้น
สรุป
Blockchain ก็เหมือนกับเทคโนโลยีอื่นๆที่มีการพัฒนาอยู่อย่างต่อเนื่อง การพัฒนาทุกครั้งจะนำมาซึ่งคุณประโยชน์และประสิทธิภาพที่สูงขึ้น โดยสำหรับ Blockchain ปัจจุบันสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 Generations ซึ่งได้แก่
รุ่นที่ 1: ใช้สำหรับการทำธุรกรรม (Bitcoin)
รุ่นที่ 2: สามารถเขียน Smart Contract ได้ (Ethereum)
รุ่นที่ 3: แก้ไขปัญหา Scalability (Cardano, Nano, IOTA)
สำหรับ Blockchain รุ่นที่ 4 แม้จะยังไม่ได้การยอมรับอย่างชัดเจน แต่เริ่มมีสัญญาณแล้วว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาด้านการ Mass Adoption หรือไม่ก็เป็นการประสานเทคโนโลยี AI เข้ากับ Blockchain โดยไม่ว่าจะพัฒนาไปทางไหนก็เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นและน่ายินดีด้วยกันทั้งสิ้น
อ้างอิง: Satoshi Nakamoto Institute, Hackernoon, GeeksforGeeks
สำหรับผู้สนใจในเทคโนโลยี Blockchain เรามีคอร์สเรียนดีๆที่ทาง Bitkub Academy จัดให้กับผู้สนใจ ติดตามได้ทาง : https://www.facebook.com/Bitkubacademy
บทความที่เกี่ยวข้อง
บริษัทระดับโลกใช้บล็อกเชนทำอะไร?
ขุด Bitcoin ทำอย่างไร มาดูกัน!
ทำความรู้จักกับ dApps ที่น่าสนใจ
หุ้น vs. คริปโต แตกต่างกันอย่างไร
ที่มา:
Medium