บทความ
ทำไมองค์กรควรใช้ Blockchain?
ในขณะที่กระแสคริปโทเคอร์เรนซีกำลังเป็นที่ถูกพูดถึงกันอย่างกว้างขวาง ก็มีอีกเทคโนโลยีหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กัน นั่นก็คือ Blockchain (บล็อกเชน) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเบื้องหลังความสำเร็จของคริปโทเคอร์เรนซีนั่นเอง
สำหรับบทความนี้เราจะมาดูกันว่า ทำไมผู้ประกอบการควรพิจารณาหันมาประยุกต์ใช้เทคโนโลยี Blockchain เข้ากับธุรกิจ
Blockchain คืออะไร?
บล็อกเชนเป็นเครือข่ายสำหรับการเก็บข้อมูลแบบกระจายอำนาจ หรือ Decentralized หมายความว่าข้อมูลทุกอย่างจะไม่ถูกเก็บอยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์เพียงเครื่องเดียว แต่คอมพิวเตอร์ทั้งเครือข่ายจะเก็บข้อมูลชุดเดียวกัน และมีการตรวจสอบอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้ข้อมูลในทุกเครื่องตรงกัน
ที่มาของคำว่าบล็อกเชน คือทุกครั้งที่มีข้อมูลชุดใหม่เกิดขึ้น ข้อมูลก็จะถูกรวบรวมเป็นบล็อก (Block) จากนั้นเครือข่ายจะตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล และส่งไปต่อท้ายข้อมูลชุดก่อนโดยเรียงต่อกันไปเรื่อยๆเหมือนกับโซ่ (Chain) ข้อมูลที่ขึ้นไปอยู่บนบล็อกเชนจะไม่สามารถถูกแก้ไขได้ บล็อกเชนจึงโดดเด่นในเรื่องของความโปร่งใส ความปลอดภัย และสามารถตรวจสอบย้อนหลังได้
เหตุผลที่ผู้ประกอบการควรประยุกต์ใช้ Blockchain
บล็อกเชนคือเทคโนโลยีเบื้องหลัง Bitcoin และคริปโทเคอร์เรนซีสกุลอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น Ethereum, Litecoin, หรือ Dogecoin เป็นต้น
ประโยชน์ของบล็อกเชนไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่ในเรื่องของการเงินเท่านั้น บล็อกเชนสามารถช่วยในเรื่องของความโปร่งใสและความปลอดภัยอย่างที่กล่าวเอาไว้ อีกทั้งความสามารถในการเขียน Smart Contract บนบล็อกเชน ยังเปิดโอกาสให้เกิดการสร้าง Application ต่างๆขึ้นบนบล็อกเชนได้อีกด้วย
โดยเหตุผลหลัก ๆ 3 ข้อที่ผู้ประกอบการควรหันมาประยุกต์ใช้บล็อกเชนเข้ากับธุรกิจ มีดังต่อไปนี้
1.เพิ่มความโปร่งใส
พื้นฐานของบล็อกเชนที่เป็น Public Ledger หรือสมุดบัญชีสาธารณะ ทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลที่อยู่บนบล็อกเชนเพื่อตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังได้ โดยเฉพาะเรื่องของการเงินที่ต้องการความโปร่งใสเป็นพิเศษ การนำบล็อกเชนมาใช้จึงสามารถเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับธุรกิจได้เป็นอย่างดี
2.เสริมประสิทธิภาพและความรวดเร็ว
การนำบล็อกเชนและ Smart contract มาใช้ ทำให้สามารถตัดคนกลางออกจากการทำงานในหลาย ๆ ขั้นตอนได้ ยกตัวอย่าง เช่น การโอนเงินข้ามประเทศ จากเดิมที่ต้องดำเนินการผ่านธนาคาร ก็สามารถโอนเงินให้กับผู้รับโดยตรงได้เลย โดยอาจใช้เวลาเพียงไม่กี่นาทีและยังสามารถลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นอย่างค่าธรรมเนียมลงไปได้ด้วย
3.ยกระดับความปลอดภัยทางไซเบอร์
ข้อมูลที่อยู่บนบล็อกเชนจะไม่สามารถถูกเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขได้ หากไม่ได้รับการยินยอมอย่างน้อย 51% จากทั้งเครือข่าย นอกจากนี้ การโจมตีทางไซเบอร์ที่มุ่งเป้าหมายมาที่เครื่องคอมพิวเตอร์เพียงเครื่องเดียวก็ไม่สามารถทำอะไรเครือข่ายบล็อกเชนได้เช่นกัน เพราะว่าข้อมูลบนบล็อกเชนจะถูกเก็บโดยเครื่องพิวเตอร์ทั้งเครือข่าย
ตัวอย่างองค์กรที่ใช้ Blockchain
ปัจจุบัน องค์กรระดับโลกหลายองค์กรได้มีการประยุกต์ใช้บล็อกเชนเข้ากับธุรกิจของตนเองเป็นที่เรียบร้อยไปแล้ว บ้างก็กำลังพัฒนาระบบของตัวเอง ไม่ว่าจะใช้ในการขนส่ง การเก็บไฟล์เอกสาร การแชร์ข้อมูลภายในองค์กร หรือแม้แต่การป้องกันภัยทางไซเบอร์ ยกตัวอย่างเช่น
Walmart ร้านค้าปลีกรายใหญ่ในสหรัฐฯ ที่ใช้บล็อกเชนในการบันทึกและตรวจสอบที่มาของสินค้า เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถมั่นใจว่าพวกเขาได้รับสินค้าที่ผลิตมาจากแหล่งที่ได้มาตรฐาน
AIA Group บริษัทประกันรายใหญ่ พวกเขาใช้บล็อกเชนในการแชร์เอกสารทั้งองค์กรแบบ Real-time เพื่อความรวดเร็วและความปลอดภัยของข้อมูลในการประเมินเคสประกันแต่ละเคส
Seoul Metropolitan Government หรือรัฐบาลกรุงโซล เกาหลีใต้ ไม่ใช่แค่ภาคเอกชนเท่านั้นที่สามารถใช้ประโยชน์จากบล็อกเชน โดยรัฐบาลกรุงโซลกำลังพัฒนาระบบการบริหารเมืองที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของบล็อกเชน โดยจะมีสกุลเงินดิจิทัลชื่อว่า S-Coin ที่ประชาชนสามารถใช้ในการรับบริการด้านสาธารณสุขต่างๆได้
Lantmäteriet หน่วยงานรัฐบาลด้านอสังหาริมทรัพย์ของสวีเดน ที่กำลังพัฒนาระบบบล็อกเชนร่วมกับภาคเอกชนและธนาคาร โดยจะนำมาใช้กับกระบวนการซื้อขายอสังหาฯให้มีความรวดเร็วยิ่งขึ้นจากเดิมที่ใช้เวลานาน รวมถึงใช้เก็บเอกสารสำคัญที่เกี่ยวข้องในรูปแบบดิจิทัล
สรุป
บล็อกเชนคือเทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลังสกุลเงินดิจิทัลอย่าง Bitcoin หากองค์กรหรือผู้ประกอบการนำเทคโนโลยีนี้มาประยุกษ์ใช้ จะสามารถยกระดับความปลอดภัยทางไซเบอร์ ความโปร่งใส ความน่าเชื่อถือ และช่วยให้กระบวนการทำงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพราะสามารถตัดคนกลางและลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไปได้นั่นเอง
อ้างอิง: 101 Blockchains, Blockgeeks, Bernard Marr & Co., Insight
ที่มา:
Medium