บทความ

ทำไม Bitkub Coin คือ Coin ไม่ใช่ Token?

image

ในวงการสินทรัพย์ดิจิทัล คำที่ได้ยินบ่อย ๆ ต้องมีคำว่า “เหรียญ” (Coin) และ “โทเคน” (Token) อยู่ด้วยอย่างแน่นอน มองผิวเผินทั้ง 2 คำดูไม่มีความแตกต่างอะไรกันมากนัก แต่แท้จริงแล้วทั้ง 2 คำต่างใช้ในการแยกประเภทของสินทรัพย์ดิจิทัลที่ชัดเจน

เช่นเดียวกันกับ Bitkub Coin ที่เปิดตัวไปเมื่อไม่นานนี้ Bitkub Coin หรือ KUB จัดอยู่ในประเภท “เหรียญ” (Coin) ในขณะเดียวกัน Fans Token หรือ FANS ที่สร้างขึ้นบน Bitkub Chain จัดอยู่ในประเภท “โทเคน” (Token)

ในบทความนี้เราจะมาทำความเข้าใจกับความหมายของ “เหรียญ” (Coin) และ “โทเคน” (Token) ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร พร้อมยกตัวอย่างให้เข้าใจได้อย่างง่าย

เหรียญ (Coin) คืออะไร?

เหรียญหมายถึงถึงสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีเครือข่ายบล็อกเชนเป็นของตัวเอง ซึ่งแต่ละบล็อกเชนก็จะมีขนาด มีเทคโนโลยี และใช้กฏเกณฑ์ที่แตกต่างกันออกไป ยกตัวอย่างเช่น

-Bitcoin อยู่บนบล็อกเชน Bitcoin

-Ether อยู่บนบล็อกเชน Ethereum

-Bitkub Coin อยู่บนบล็อกเชน Bitkub Chain

ข้อสังเกตุ สินทรัพย์ที่จัดอยู่ประเภทเหรียญ (Coin) มักจะทำงานบนบล็อกเชนที่มีชื่อเหมือนหรือใกล้เคียงกัน

หน้าที่ของเหรียญ (Coin)

ประโยชน์การใช้งานของเหรียญ (Coin) อย่างแรกคือการใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าหรือบริการ (Medium of Exchange) ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์หลักที่ Bitcoin ถูกสร้างขึ้นมา รวมถึงใช้เป็นรางวัลในการขุดหรือสร้างบล็อก

ต่อมา เมื่อ Ethereum ถือกำเนิดขึ้นพร้อมกับ Smart Contract ทำให้เกิดการยกระดับเทคโนโลยีบล็อกเชนขึ้นไปอีกขั้น เกิดเป็นแอปพลิเคชันทางการเงินต่าง ๆ หรือที่เรียกว่า Decentralized Finance (DeFi) เหรียญ Ether ของ Ethereum รวมถึงเหรียญของบล็อกเชนรุ่นใหม่ ๆ จึงถูกใช้เป็นค่าธรรมเนียมเครือข่าย หรือ Gas fee เพื่อให้ Smart Contract หรือแอปพลิเคชัน สามารถทำทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่น รวมถึงยังใช้เป็นค่าธรรมเนียมในการสร้างและโอนสินทรัพย์ประเภทโทเคนที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ด้วยเช่นกัน

สรุปหน้าที่ของเหรียญ (Coin) มี 4 ข้อดังนี้

1.ใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าหรือบริการ (Medium of Exchange)
2.ให้เป็นรางวัลในการขุดหรือสร้างบล็อก

3.ใช้เป็นค่าธรรมเนียมเครือข่าย หรือ Gas fee

4.ใช้เป็นค่าธรรมเนียมในการสร้างและโอนสินทรัพย์ประเภทโทเคน

โทเคน (Token) คืออะไร?

โทเคนหมายถึงสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่มีบล็อกเชนเป็นของตัวเอง มักจะสร้างขึ้นผ่านการใช้ Smart contract บนเครือข่ายบล็อกเชนอื่น ๆ แต่โทเคนมักจะถูกเรียกเหมารวมเป็นเหรียญดิจิทัล ทำให้เกิดความสับสนได้บ้าง โดยตัวอย่างของโทเคน ได้แก่

Uniswap (UNI) ที่สร้างขึ้นบล็อกเชน Ethereum

Maker (MKR) ที่สร้างขึ้นบล็อกเชน Ethereum

Fans Token (FANS) ที่สร้างขึ้นบน Bitkub Chain

การจะสร้างโทเคน นอกจากต้องมีความรู้เกี่ยวกับ Smart contract ในระดับหนึ่ง ผู้สร้างโทเคนต้องนำเหรียญ (Coin) ของเครือข่ายบล็อกเชนนั้น ๆ มาจ่ายเป็นค่าธรรมเนียมเพื่อให้เครือข่ายรับรอง เช่น ถ้าจะสร้างโทเคนบน Ethereum ก็ต้องนำเหรียญ Ether มาจ่าย หรือถ้าจะสร้างบน Bitkub Chain ก็ต้องนำ Bitkub Coin มาจ่าย เป็นต้น ซึ่งจำนวนเหรียญที่ต้องจ่ายจะแตกต่างกันไปตามขนาดหรือกฏเกณฑ์ของแต่ละเครือข่าย บางครั้งก็อาจขึ้นอยู่กับความซับซ้อนของ Smart contract ด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ แต่ละบล็อกเชนจะมีมาตรฐานที่ใช้ในการสร้างโทเคนเพื่อทำให้โทเคนสามารถทำงานร่วมกับระบบนิเวศของบล็อกเชนนั้น ๆ ได้ เช่น ERC-20 ที่เป็นมาตรฐานโทเคนของ Ethereum หรือ KAP-20 ที่เป็นมาตรฐานโทเคนของ Bitkub Chain เป็นต้น

หน้าที่ของโทเคน (Token)

เนื่องจากโทเคนถูกสร้างขึ้นจาก Smart contract ทำให้โทเคนมีรูปแบบการใช้งานที่หลากหลายขึ้นอยู่กับ Smart contract หรือแอปพลิเคชันนั้น ๆ โดยตัวอย่างการใช้งานโทเคนมีดังนี้

1. Utility tokens — โทเคนที่มอบสิทธิ์ให้ผู้ถือสามารถเข้าถึงบริการต่าง ๆ ของแอปพลิเคชัน เช่น ALPHA ที่ทำให้ผู้ถือสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินของ Alpha Finance Lab

2. Asset tokens — โทเคนที่ใช้แทนมูลค่าของสินทรัพย์กายภาพ (Physical) เช่น อสังหาริมทรัพย์, ทองคำ ฯลฯ ยกตัวอย่าง Digix Gold Token (DGX) ที่ใช้แทนทองคำแท่ง

3. Stablecoins — โทเคนที่มีมูลค่าคงที่ผ่านการนำมูลค่าไปผูกกับสกุลเงินประเภท Fiat currency เช่น USDT ที่ผูกมูลค่ากับดอลลาร์สหรัฐฯ

4. Governance token — โทเคนที่มอบสิทธิ์ให้ผู้ถือมีส่วนร่วมกับการพัฒนาหรือปรับปรุงแอปพลิเคชันบนบล็อกเชน

5. Security tokens — โทเคนที่ใช้แทนหลักฐานการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทใดประเภทหนึ่ง เช่น หุ้นของบริษัท กองทุนรวม ฯลฯ

6. Payment tokens — โทเคนที่เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าหรือบริการที่อยู่บนระบบนิเวศของแอปพลิเคชันนั้น ๆ

7. Non-fungible tokens หรือ NFTs — โทเคนที่ใช้แทนสินทรัพย์ที่มีลักษณะเฉพาะ ทั้งแบบดิจิทัลและแบบกายภาพ โดย NFTs สามารถครอบคลุมได้หลายอย่าง ตั้งแต่ ของสะสม ผลงานศิลปะ ดนตรี เป็นต้น

ทั้งนี้ เทคโนโลยีบล็อกเชน โดยเฉพาะ Smart contract ยังเป็นเทคโนโลยีที่ค่อนข้างใหม่ โทเคนที่กล่าวมาอาจไม่ใช่ตัวอย่างที่ครอบคลุมทั้งหมด ยังมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการใช้โทเคนรูปแบบใหม่ ๆ ขึ้นในอนาคต จึงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป

สรุป

เหรียญ (Coin) และ โทเคน (Token) แม้จะดูคล้ายกัน แต่มีความหมายที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

เหรียญ หมายถึง สินทรัพย์ดิจิทัลที่มีเครือข่ายบล็อกเชนเป็นของตัวเอง มีหน้าที่เป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ รวมถึงใช้เป็นค่าธรรมเนียมบนเครือข่ายเพื่อสร้างแอปพลิเคชันและโทเคน และทำให้แอปพลิเคชันสามารถทำงานร่วมกันได้

โทเคน หมายถึง สินทรัพย์ดิจิทัลที่สร้างขึ้นบนบล็อกเชน แต่ไม่มีบล็อกเชนเป็นของตัวเอง มักเกิดขึ้นพร้อมกับแอปพลิเคชันบนบล็อกเชน หน้าที่ของโทเคนจึงค่อนข้างหลากหลายตามวัตถุประสงค์ของแอปพลิเคชันนั้น ๆ โดยโทเคนอาจมีหน้าที่ตั้งแต่เป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ มอบสิทธิ์ในการเข้าถึงบริการต่าง ๆ ไปจนถึงการมีส่วนร่วมกับการพัฒนาเครือข่าย เป็นต้น

อ้างอิง BitDegree, Liquid, Ledger

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศบน Bitkub Chain เพียงเป็นเจ้าของ Bitkub Coin ได้แล้ววันนี้ที่ Bitkub ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลชั้นนำของประเทศไทย มีสินทรัพย์ดิจิทัล ทั้งเหรียญและโทเคน ให้เลือกซื้อขายมากกว่า 46 รายการ พร้อมทีมซัพพอร์ตคอยให้ความช่วยเหลือตลอด 24 ชั่วโมง และระบบความปลอดภัยได้มาตรฐานระดับโลก ที่ https://www.bitkub.com/ หรือดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Bitkub บน App Store และ Google Play เปิดรับสมาชิกใหม่แล้ววันนี้!

ที่มา:

Medium

ผู้เขียน: Waranyu Suknantee | 06 ม.ค. 65 | อ่าน: 3,601
บทความล่าสุด